The Summer Coffee พร้อมเสิร์ฟกาแฟแก้วโปรดจากอยุธยาให้ชาวกรุงเทพฯ แล้ววันนี้

The Summer Coffee พร้อมเสิร์ฟกาแฟแก้วโปรดจากอยุธยาให้ชาวกรุงเทพฯ แล้ววันนี้

19 เม.ย. 2567

SHARE WITH:

19 เม.ย. 2567

19 เม.ย. 2567

SHARE WITH:

SHARE WITH:

The Summer Coffee พร้อมเสิร์ฟกาแฟแก้วโปรดจากอยุธยาให้ชาวกรุงเทพฯ แล้ววันนี้

“การเริ่มต้น The Summer Coffee ที่อยุธยา ผมว่ามันเป็นความบังเอิญ”

ครั้งแรกที่เราแวะมาจิบกาแฟที่ร้าน The Summer Coffee ณ ย่านตลาดน้อย ซึ่งเป็นสาขาแรกในกรุงเทพฯ นั้น สืบเนื่องมาจากน้องที่ทำงานด้วยกันแนะนำให้มาลองชิม รสชาติกาแฟที่ถูกปาก บวกกับเบเกิลที่เนื้อหนึบโดนใจ นำมาสู่การนัดพูดคุยกับเจ้าของร้าน กอล์ฟ-คณิน อนันรยา โดยมี โน้ต-ชุติมา อนันรยา หุ้นส่วนชีวิตของกอล์ฟ เป็นผู้ประสานงานให้วงสนทนาในร้านแห่งนี้เกิดขึ้น

กอล์ฟเล่าให้ฟังว่าพวกเขาเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด โน้ตเป็นคนสาธุประดิษฐ์ ส่วนเขาเติบโตมาในย่านพระราม 3 แต่สาเหตุที่ทำให้ทั้งคู่ผันตัวเองจากการทำงานในอุตสาหกรรมอื่นมาเริ่มต้นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอย่างจริงจังที่ต่างจังหวัดแทนที่จะเป็นบ้านเกิดของตัวเองนั้น เป็นเพราะกอล์ฟมีบ้านพักตากอากาศริมน้ำที่อยุธยาอยู่แล้ว 

“เราเป็นหน้าใหม่ในวงการ F&B อย่างน้อยถ้าไม่สำเร็จ ก็คิดว่าเราตกแต่งบ้านให้สวยขึ้น นั่นเลยเป็นจุดเริ่มต้นว่าตอนนั้นทำไมต้องเป็นอยุธยา”

แม้ก้าวแรกจะมาจากความบังเอิญ แต่ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นความบังเอิญที่เกิดขึ้นถูกที่ถูกเวลา เพราะอยุธยาที่ทั้งคู่ใช้เป็นฐานที่มั่นในการเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองนั้นมีศักยภาพที่แข็งแกร่ง ซึ่งช่วยผลักดันให้แบรนด์ The Summer Coffee ค่อยๆ เติบโตได้อย่างมั่นคง

ศักยภาพแรกที่กอล์ฟและโน้ตเห็นคือความเป็นเมืองท่องเที่ยวของอยุธยา คนจากกรุงเทพฯ จำนวนมากมักจัด One-Day Trip ไหว้พระตามวัดวาอารามต่างๆ ในกรุงเก่าแห่งนี้ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีการแวะเติมพลังระหว่างทริป โดยสวนอาหารคือสถานที่ลำดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ใช้เป็นจุดคลายเหนื่อย แต่กอล์ฟมองว่าไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการหยุดพักเพื่อรับประทานอาหารมื้อใหญ่เสมอไป บางคนอาจจะต้องการแค่กาแฟหรือเครื่องดื่มสักแก้ว และขนมชิ้นเล็กๆ สักชิ้นสองชิ้น นี่จึงเป็นศักยภาพที่ดีที่จะสร้าง The Summer Coffee ขึ้นมาเพื่อเป็นหนึ่งทางเลือกให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังอยุธยา

ทรัพยากรบุคคลเองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของทั้งคู่ กอล์ฟบอกว่าเขาโชคดีที่ได้คนรุ่นใหม่ในอยุธยาที่มีใจรักงานบริการมาร่วมงานกับเขา เซอร์วิสที่เปี่ยมไปด้วยความจริงใจและเต็มที่เกินร้อยสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้าที่แวะเวียนมาที่ร้านได้เป็นอย่างดี

ศักยภาพสุดท้ายและเป็นปัจจัยที่สำคัญ นั่นก็คือพื้นที่ที่ยืดหยุ่นและกว้างขวางของอยุธยา ซึ่งทำให้ The Summer Coffee สามารถสร้างโรงงานคั่วกาแฟของตัวเองได้ และนำไปสู่การทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกาแฟที่ผลิตเองไปยังผู้บริโภคโดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์ โดยการขายกาแฟออนไลน์นี้เองที่ทำให้กอล์ฟและโน้ตมองเห็นลู่ทางในการขยายแบรนด์ของตัวเองสู่กรุงเทพฯ 

“การขายออนไลน์ในตอนนั้นของเราตรงกับจังหวะโควิดพอดี เลยทำให้เรามีฐานลูกค้าที่เป็น Home Brewer หรือคนดื่มกาแฟที่บ้านเยอะ และจากการแชตคุยกับพวกเขาอยู่ตลอด ผมก็รู้สึกได้ว่ามีความต้องการให้ร้านของเราไปเปิดที่กรุงเทพฯ อีกทั้งยังได้ข้อมูลจากลูกค้าที่เป็นแฟนกาแฟ The Summer ซึ่งมักจะขับรถจากกรุงเทพฯ ไปถึงอยุธยาทุกสุดสัปดาห์ เลยคิดว่ามันมีโอกาสในกรุงเทพฯ ถึงเวลาแล้วที่ต้องมาเปิด บวกกับรู้สึกว่าเราอยู่ในอุตสาหกรรมกาแฟมาสักพักจนถึงจุดที่คิดว่าถ้าเราไปเปิดร้านที่กรุงเทพฯ ก็น่าจะได้รับการต้อนรับจากคนในพื้นที่” 


IIIi - จากกรุงเก่าสู่ย่านโอลด์ทาวน์ในกรุงเทพฯ

แล้วทำไมสาขาแรกในกรุงเทพฯ ต้องเป็นที่ ‘ตลาดน้อย’? 

“สาขาแรกในกรุงเทพฯ เราต้องการพื้นที่ที่เป็นสแตนด์อโลน ไม่อยู่ในห้าง ไม่เป็นพื้นที่ที่จำกัดตัวตนของเรา”

หลังจากเซ็ตคาแรกเตอร์คร่าวๆ ของร้านแรกในเมืองบ้านเกิดของตัวเองได้แล้ว กอล์ฟก็เริ่มเสาะหาพื้นที่ในย่านต่างๆ ทั้งสุขุมวิทและอารีย์ แต่กลับไม่มีตลาดน้อยอยู่ในลิสต์ ทว่าความบังเอิญก็เกิดขึ้นกับพวกเขาอีกครั้ง เมื่อเจ้าของโครงการ The Warehouse ซึ่งเป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว ได้เล่าให้ทั้งคู่ฟังถึงโปรเจกต์การสร้างคอมมูนิตี้สเปซนี้ในย่านตลาดน้อย

“ผมถามเขากลับไปนะว่าทำไมต้องเป็นตลาดน้อย ไม่เป็นที่อื่น” กอล์ฟบอกเราถึงความสงสัยของตัวเองในครั้งนั้น “เขาก็ชวนผมมาดูพื้นที่เลย พอเห็นแล้ว ผมก็รู้สึกว่า ไวบ์มันดีนะ และระหว่างนั้นเราได้เห็นคนต่างชาติเดินไปเดินมา ซึ่งเกิดเป็นคำถามในหัวว่า ‘มาจากไหนและมาทำอะไรกันแถวนี้’ แต่พอได้คุยกับเจ้าของโครงการ ผมก็หาจุดเชื่อมโยงระหว่างย่านนี้กับแบรนด์ The Summer Coffee เจอ

“The Summer Coffee สาขาแรกในอยุธยาอยู่ในโซนโอลด์ทาวน์ ซึ่งตลาดน้อยก็เป็นย่านโอลด์ทาวน์ที่ทุกคนเข้ามาซึมซับกลิ่นอายความเป็นอดีตเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการเปิดสาขาแรกของกรุงเทพฯ ในย่านนี้ ผมก็รู้สึกว่ามันสะท้อนตัวตนดั้งเดิมของเราที่มีมาตั้งแต่ต้น และสามารถต่อยอดให้เติบโตได้ไม่ยาก” 

แม้ทั้งคู่จะมองว่าสาขาในกรุงเทพฯ คือโอกาสของแบรนด์ The Summer Coffee แต่ด้วยโพสิชั่นที่ไม่เหมือนกัน แน่นอนว่าย่อมนำมาซึ่งความท้าทายที่แตกต่างในการดำเนินร้าน

“ชาเลนจ์ของสาขาในอยุธยาคือการสร้างทราฟฟิกมายังร้านเรา จะทำยังไงให้นักท่องเที่ยวขับรถมาหาเรา จะทำยังไงให้คาเฟ่ The Summer Coffee เป็นสต็อปหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวของเขา” โน้ตอธิบาย “พอเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ ชาเลนจ์ของเราคือทำยังไงให้กาแฟของเราเป็น ‘Everyday Cup of Coffee’ ของลูกค้า มันเป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์แล้ว

โน้ตมองว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีผู้บริโภคกาแฟเป็นจำนวนมาก ซึ่งกาแฟคือเครื่องดื่มที่เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันของคนเหล่านั้น

“ตอนเราเริ่มรีเทลออนไลน์ ลูกค้าสั่งซื้อกาแฟจากเราเพื่อไปชงเป็น everyday cup of coffee ของเขา เมื่อเรามีคาเฟ่ในกรุงเทพฯ แล้ว เราจะทำยังไงให้เขานึกถึงเราเมื่อเขาอยากดื่มกาแฟจริงๆ ไม่ใช่แค่นึกถึงเราเมื่ออยากจะเที่ยวคาเฟ่หรือหาที่แฮงก์เอาต์ มันต่างจากอยุธยาโดยสิ้นเชิง” 

แม้ไม่แน่ใจว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่การก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนเพื่อสร้างตัวตนในโลเคชั่นใหม่พร้อมเป้าหมายที่แตกต่างครั้งนี้กลับได้รับผลตอบรับที่น่าพึงพอใจ

“สำหรับผม The Summer Coffee เพอร์ฟอร์มได้ดีในฐานะอีคอมเมิร์ซ หรือร้านกาแฟรีเทลออนไลน์ เรามีแฟนเบสที่ซื้อกาแฟเราเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งนี้ไม่ได้รับประกันว่าการเปิดสาขาในกรุงเทพฯ จะประสบความสำเร็จ” กอล์ฟยอมรับ 

“แต่สุดท้ายพอเราเปิดจริงๆ แล้ว ก็ต้องบอกว่าดีใจ เพราะเราได้รับฟีดแบ็กจากลูกค้าเกือบ 60% ที่ซื้อเมล็ดกาแฟของเราผ่านช่องทางออนไลน์และอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ว่า ‘ในที่สุด The Summer ก็มาเปิดร้านที่กรุงเทพฯ ได้มาลองชิมกาแฟของเขาแล้ว’ หรือที่ได้ยินบ่อยๆ เลยก็คือ ‘กินกาแฟเจ้านี้มาตั้งหลายปี เพิ่งได้มากินที่หน้าร้านก็ครั้งนี้แหละ’ มันเหมือนเขาได้มีปฏิสัมพันธ์หรือสัมผัสประสบการณ์ที่เกี่ยวกับกาแฟที่หน้าร้านได้แล้วจริงๆ”

“กาแฟที่ลูกค้าในกรุงเทพฯ นิยมสั่งก็จะเป็นแก้วเบสิกอย่างลาเต้ อเมริกาโน่ หรือกาแฟดริป” โน้ตเสริม “ต่างจากอยุธยาที่คนชอบสั่งกาแฟแนวแฟนซีที่เพิ่มลูกเล่นหรือท็อปปิ้งต่างๆ มากกว่า ก็แสดงให้เห็นว่ากาแฟร้านเราเป็น Everyday Coffee ของคนกรุงเทพฯ ได้จริงๆ”


IIIi - สานสัมพันธ์กับต้นน้ำในสายธารอุตสาหกรรมกาแฟ

“เราทำโรงคั่วมาจนถึงปีนี้เข้าปีที่ 4 แล้วครับ”

พูดคุยเกี่ยวกับพาร์ตคาเฟ่ที่ตั้งต้นจากอยุธยาและเดินทางสู่ย่านตลาดน้อยในกรุงเทพฯ กันพอหอมปากหอมคอแล้ว เราชวนกอล์ฟและโน้ตเจาะลึกบทบาทการเป็นโรงคั่วของ The Summer Coffee บ้าง

อย่างที่ได้เกริ่นไปบ้างแล้วในช่วงต้นว่าวัตถุประสงค์แรกในการสร้างโรงคั่วของ The Summer Coffee ขึ้นมาก็เพราะจะได้นำกาแฟที่คั่วได้นั้นมาใช้หน้าร้านคาเฟ่ของตัวเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขามองว่าสามารถขายกาแฟเหล่านี้สู่ผู้บริโภคโดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์ได้ด้วย

ในช่วง 2 ปีแรกที่คั่วกาแฟแล้วขายผ่านช่องทางออนไลน์นั้น The Summer Coffee ซื้อ ‘กาแฟสาร’ หรือเมล็ดกาแฟดิบ (green bean) จากเทรดเดอร์ แต่เมื่อปริมาณการผลิตเริ่มเติบโตขึ้น ทางแบรนด์จึงเริ่มขยับขยายไปร่วมงานกับภาคเกษตรกรมากขึ้น โดยกอล์ฟจำกัดความสิ่งที่แบรนด์ The Summer Coffee ทำว่าเป็นการพัฒนาบทบาทของตัวเองในฐานะโรงคั่ว จากแต่ก่อนผูกสัมพันธ์กับปลายน้ำของอุตสาหกรรมกาแฟ ซึ่งก็คือผู้บริโภค ผ่านการจำหน่ายกาแฟที่คั่วแล้วเพียงอย่างเดียว สู่การสร้างพันธมิตรร่วมกับต้นน้ำ หรือชุมชนผู้เพาะปลูกกาแฟ เพื่อปลดล็อกปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการซื้อจากเทรดเดอร์ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และคุณภาพกาแฟที่ไม่แน่นอน ไม่สามารถควบคุมให้คงที่ได้

“ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว The Summer ซื้อโรงสี 2 ที่ ที่แรกอยู่บนดอยห้วยน้ำขุ่น ที่เชียงราย ส่วนอีกที่อยู่ในอำเภอพร้าว เชียงใหม่ การซื้อโรงสีนั้นหมายถึงเราขยับไปร่วมงานกับทางต้นน้ำมากขึ้น เราได้ทำงานกับชุมชนบนดอยที่มีหลากหลายกลุ่ม ปีนี้จึงเป็นปีที่เราไม่กังวลเรื่องคุณภาพกาแฟเลย เพราะการมีโรงสีของตัวเองทำให้เราสามารถโฟกัสได้เลยว่าเราอยากได้กาแฟสายพันธุ์นี้ สีแบบนี้ จากฟาร์มนี้ในภูมิภาคนี้ เรามั่นใจในเรื่องคุณภาพได้

“ถึงอย่างนั้นการไปทำงานกับเกษตรกรเหล่านั้นไม่ใช่แค่เราอยากจะได้กาแฟจากพวกเขาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการผลักดันให้พวกเขาให้ความสำคัญกับคำว่า ‘คุณภาพของกาแฟ’ ตั้งแต่วิธีการเก็บผลเชอร์รี่กาแฟและการหมักเมล็ดกาแฟ โดยช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เราส่งคนในทีมขึ้นไปทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรเลย เพื่อตรวจสอบความคงที่ของคุณภาพ เมื่อเราไปคลุกคลีกับเขาเยอะๆ และยืนยันว่าถ้ากาแฟของเขาดี เราสามารถซื้อได้เรื่อยๆ ก็จะเป็นการช่วยสนับสนุนให้เขาอยากพัฒนาคุณภาพกาแฟของตัวเองตลอดไป และราคาที่ได้ก็จะดีขึ้นตามคุณภาพไปด้วย”

Thailand’s Coffee Series คือผลลัพธ์จากการสร้างโรงสีและร่วมงานกับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยในซีรีส์นี้ประกอบไปด้วยกาแฟที่มีรสชาติและคาแรกเตอร์เป็นเอกลักษณ์จากฟาร์มต่างๆ บน ‘ถนนกาแฟ’ ที่ตั้งเชื่อมระหว่าง 2 จังหวัดดังกล่าว ซึ่ง The Summer Coffee จะสลับสับเปลี่ยนให้ผู้บริโภคได้ชิมตลอดทั้งปี เริ่มตั้งแต่ ภูผาเอสเธท (Phupha Estate) ที่อยู่ในเขตเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ไปจนถึงฟาร์มที่อยู่ในเขตห้วยน้ำขุ่น และดอยช้างในจังหวัดเชียงราย นอกจากนี้เมื่อไม่นานมานี้ The Summer Coffee ได้รับเชิญจากโครงการแม่ฟ้าหลวงให้ร่วมทำวิจัยเกี่ยวกับกาแฟสายพันธุ์พิเศษในเขตดอยตุงอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น The Summer Coffee ยังร่วมงานกับเกษตรกรผู้เพาะปลูกกาแฟในต่างประเทศอย่างประเทศโคลอมเบียและเอธิโอเปียอีกด้วย 

“สองประเทศนี้ทำกาแฟอร่อยและเราก็ใช้กาแฟจากเขาเยอะเหมือนกัน ยกตัวอย่างกาแฟตัวหนึ่งของเราที่ชื่อว่า ‘Mr. Rum Raisin’ ที่ทำงานกับเกษตรกรในโคลอมเบีย โดยเราให้เขาใช้เทคนิคการหมักกาแฟในถังเหล้ารัม ซึ่งเป็นถังที่มีเฉพาะในประเทศที่ผลิตรัมได้เท่านั้น ซึ่งประเทศไทยยังไม่มี” กอล์ฟเล่า 

“เราเห็นหลายๆ อุตสาหกรรมใช้วิธีแบบนั้น เราเลยคิดว่ามันน่าจะช่วยสร้างประสบการณ์การดื่มกาแฟให้ยูนีกขึ้นมาได้ด้วยเช่นกัน เราก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่าการหมักในแต่ละเลเวลจะให้กลิ่นแบบใดบ้าง ซึ่งพอเราพัฒนาจนถึงจุดที่เราพอใจแล้ว เราก็สามารถผลิตกาแฟ Mr. Rum Raisin ได้ตลอดทั้งปี และสามารถวางขายได้ทุกปีโดยมีความคงที่ของคุณภาพสูงมาก และเราก็นำ Know-How เหล่านั้นมาใช้กับการทำงานกับเกษตรกรในไทยด้วย”


IIIi - อุตสาหกรรมกาแฟไทยในสายตาชาวโลก

ในฐานะผู้คลุกคลีกับอุตสาหกรรมกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เราจึงอดถามสองหนุ่มสาวผู้ขับเคลื่อน The Summer Coffee ไม่ได้ถึงมุมมองของพวกเขาที่มีต่ออุตสาหกรรมกาแฟไทยในเวทีโลก

กอล์ฟแชร์สิ่งที่ตัวเองได้พบเห็นผ่านประสบการณ์ของตัวเองว่ากลุ่มปลายน้ำ ตั้งแต่บาริสต้ามาจนถึงคาเฟ่ ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับและมีตัวตนในสายตาของนานาประเทศ

“เรามีคาเฟ่ที่มีบาริสต้าที่เก่ง ติดแชมป์โลกเยอะมากจนไม่ต้องสงสัยอีกต่อไปแล้วในเรื่องของสกิล ซึ่งกลุ่มนี้เองที่ช่วยผลักดันให้กาแฟที่สร้างสรรค์โดยคนไทยเป็นที่รู้จัก และผมเชื่อว่าหลายๆ ประเทศโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เขาก็เห็นเราเป็นเรเฟอเรนซ์ ขนาดตัวเราเองในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการคาเฟ่ ยังรู้สึกเซอร์ไพรส์ที่มักจะได้รับการทักทายหรือได้รู้ว่ามีการติดตามเราจากชาวต่างชาติอยู่บ่อยๆ ล่าสุดผมไปโอมาน ก็มีคนมาขอดูวิธีการทำกาแฟจากเรา เพราะฉะนั้นปลายน้ำของอุตสาหกรรมกาแฟไทยทำได้ดีมากแล้ว”

กระนั้นสิ่งที่ยังขาดคือ ‘ปริมาณการบริโภคกาแฟ’ 

“เทียบกับเกาหลีใต้และออสเตรเลีย คัลเจอร์การบริโภคกาแฟเขาเยอะกว่าเรา คนหนึ่งอาจจะกินสองแก้วหรือสามแก้วต่อวัน ใครเดินผ่านไปผ่านมาก็เห็นว่ากินกาแฟ สิ่งนี้ช่วยให้ปริมาณการบริโภคกาแฟของสองประเทศนี้เติบโต แต่ของไทยเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมทุกวันนี้น่าจะยังเป็นชานมไข่มุก ซึ่งสูงกว่าการดื่มกาแฟ แน่นอนว่าต่อให้เรามีคาเฟ่ที่มีบาริสต้าที่เก่ง ก็ไม่สามารถอยู่ได้ตลอดไป ถ้าผู้บริโภคไม่เยอะพอ แต่ผมเชื่อว่าร้านที่ดีและบาริสต้าที่ดีจะเป็นกลไกที่ช่วยให้ผู้บริโภคค่อยๆ หันมาเริ่มดื่มกาแฟกันมากขึ้น”

ส่วนในพาร์ตของโรงคั่วกาแฟหรือ Roaster นั้น กอล์ฟมองว่ากลุ่มนี้ในไทยเข้าถึงเทคโนโลยีและองค์ความรู้สมัยใหม่ รวมถึงมีทักษะที่ยอดเยี่ยมและแข็งแกร่งจนได้รับความสนใจมากขึ้นจากทั่วโลก

“ผมคิดว่ากลุ่มนี้ของไทยติดท็อป 10 ของโลกนี้เลย ผมมีโอกาสได้เจอเซลส์ของ Mahlkonig แบรนด์เครื่องบดกาแฟชื่อดังของโลกที่คาเฟ่หลายๆ ร้านใช้กัน เขาบอกผมว่าในแถบเอเชีย-แปซิฟิก ถ้าไม่นับออสเตรเลีย ไทยมียอดขายอันดับหนึ่ง แสดงว่าอุตสาหกรรมกาแฟไทยกำลังได้รับความสนใจจากต่างชาติ 

“แต่ก่อนพูดได้เลยว่าคนไทยไม่ค่อยมีโอกาสได้กินกาแฟนอกดีๆ เพราะประเทศอื่นซื้อไปหมด แต่เดี๋ยวนี้เทรดเดอร์ทั่วโลกมองไทยเป็นลูกค้าเบอร์ต้นๆ ของเขา กาแฟดีๆ เข้าไทยเยอะมากและเรามีโอกาสได้เลือกก่อนด้วย”


อย่างไรก็ตาม ในพาร์ตของต้นน้ำ หรือภาคเกษตรกรรมรวมถึงโรงสีนั้น กอล์ฟมองว่าการแข่งขันในตลาดโลกยังเป็นไปได้ยาก

“ชาวไร่กาแฟของเราไม่ได้แพ้ใครเลย แต่ด้วยธรรมชาติ สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ทำให้เป็นเรื่องยากนิดนึง จากข้อมูลทำให้เรารู้ว่าไทยผลิตกาแฟได้ประมาณ 30,000 กว่าตันต่อปี ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศที่มีประมาณแสนกว่าตันต่อปีเลย ดังนั้นการจะส่งออกเพื่อแข่งขันกับเจ้าอื่นๆ ในตลาดโลกในเรื่องของปริมาณก็ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ แต่ด้วยจำนวนการผลิตที่มีอย่างจำกัดนี้เอง ทำให้เราผลักดันในเรื่องคุณภาพแทน เพื่อให้ตลาดโฟกัสที่มิตินี้ของเรา ซึ่งสุดท้ายก็จะนำไปสู่ราคาที่พุ่งสูงขึ้นและรายได้ที่มากขึ้น”

เมื่อรับรู้ถึงสถานการณ์ในแต่ละภาคส่วนของอุตสาหกรรมกาแฟไทยแล้ว เราจึงถามกอล์ฟเกี่ยวกับการทำให้อุตสาหกรรมนี้ทั้งระบบสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กันในมุมมองของเขาต่อทันที

“ความยั่งยืนสำหรับผม ต้องมองที่ผู้บริโภคก่อน ตราบใดที่มีผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ยังไงมันก็ยั่งยืน ซึ่งการทำให้ปริมาณการบริโภคสูงขึ้นจนทำให้ทั้งอุตสาหกรรมอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้น ‘โปรดักต์ต้องมีคุณภาพอย่างแท้จริง’ ทุกวันนี้ผู้บริโภคมีความรู้และมีสื่อที่ทำให้เขาสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อนำมาใช้เปรียบเทียบโปรดักต์ต่างๆ ที่อยู่ในตลาดได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร คนคั่วกาแฟ บาริสต้า รวมถึงร้านกาแฟ ที่ต้องจริงใจกับผู้บริโภค ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคว่ากาแฟของเรามีคุณภาพระดับมาตรฐานโลก และสามารถส่งมอบกาแฟที่ดีที่เป็นแก้วโปรดในทุกๆ วันให้แก่พวกเขาได้ ถ้าคน 3-4 กลุ่มนี้สามารถจับมือกันผลักดันให้คุณภาพของกาแฟไทยไปสู่จุดนั้นได้ และทำให้ทุกคนสามารถเอ็นจอยกับการดื่มกาแฟได้เรื่อยๆ ผมก็เชื่อว่ากลุ่มผู้บริโภคก็จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง”

คำว่า ‘คุณภาพ’ ที่กอล์ฟกล่าวถึงนั้นไม่ใช่กาแฟที่อร่อยและแพงที่สุด

“คุณภาพในที่นี้คือทุกคนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมกาแฟ ‘แข่งขันกัน’ เพื่อพัฒนาให้กาแฟมีคุณภาพดีขึ้นในราคาที่ถูกลง และตัวเลือกมีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคยังอยู่กับเรา อีกทั้งยังสามารถสร้างกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มขึ้นได้ ผมมองว่าการแข่งขันเป็นสิ่งที่ดี มันช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมทั้งกลุ่มเติบโตไปได้ไกลขึ้น” 


IIIi - มุ่งมั่นต่อไปในฐานะ ‘แก้วโปรด’ ของทุกคน

“เป้าหมายตั้งแต่แรกของเราคืออยากจะเป็น ‘Favorite Cup of Coffee’ ที่ทุกๆ คนเอ็นจอยได้ในทุกๆ วัน”

กอล์ฟให้คำตอบแก่เราเมื่อถามถึงจุดหมายต่อไปในอนาคตของการทำแบรนด์ The Summer Coffee

“การทำกาแฟของเราให้เป็น ‘แก้วโปรด’ ของทุกคนได้นั้นเป็นโจทย์ที่ฟังดูง่าย แต่จริงๆ แล้วมันยากมาก เพราะไม่ใช่แค่การทำให้ทุกคนดื่มแล้วรู้สึกว่าอร่อยจัง แต่ต้องทำให้เขานึกถึงชื่อของ The Summer ทุกครั้งเมื่อต้องการดื่มกาแฟ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงแค่การพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ที่ล่าสุดเราสามารถรักษาความคงที่ของคุณภาพจากทางต้นน้ำได้แล้วเท่านั้น แต่การทำให้ผู้บริโภค ‘เข้าถึง’ กาแฟของเราได้มากขึ้นก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน 

“ในอนาคตการเข้าถึง The Summer Coffee ก็จะมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การขยายหน้าร้านในกรุงเทพฯ ให้มีหลายสาขามากยิ่งขึ้น ซึ่งบางร้านก็อาจไม่ได้เป็นคาเฟ่ แต่เป็นร้านรีเทลที่ขายโปรดักต์กาแฟของ The Summer อย่างเดียว เพราะลูกค้าบางคนอาจจะไม่ได้อยากซื้อสินค้าของเราในฟอร์มแก้วเพื่อนั่งดื่มในคาเฟ่ แต่อาจจะอยากได้ในรูปแบบโปรดักต์อื่นๆ ของเรา ดังนั้นเราก็จะทำหน้าร้านแบบนั้นเพื่อตอบสนองลูกค้ากลุ่มนี้ด้วย”

“ให้ลูกค้าได้เข้ามาสัมผัสประสบการณ์ด้านกาแฟจริงๆ ได้พูดคุยอย่างเต็มที่กับคนแนะนำกาแฟของเราในพื้นที่หน้าร้าน ไม่ใช่แค่เข้ามาด้วยจุดประสงค์เพื่อการเที่ยวคาเฟ่เพียงอย่างเดียว” โน้ตเสริม


เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา สาขาที่สองในกรุงเทพฯ ของ The Summer Coffee ได้เปิดทำการอย่างเป็นทางการแล้วที่ชั้น G ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยโฟกัสของสาขานี้เน้นที่รีเทลเป็นหลัก แต่ก็มีโซนคาเฟ่เปิดให้บริการด้วย

“สาขานี้เป็นสาขาแรกที่เราได้ลองเปิดให้บริการในห้าง เหตุผลเป็นเพราะในปีที่ผ่านมา The Summer Coffee ไปออกป๊อปอัปตามห้างต่างๆ ถึง 8 งาน เราได้เห็นว่ากลุ่มลูกค้าของเรามีชาวต่างชาติเยอะมาก เราเลยแอบฝันว่ามันคงจะดีนะถ้า The Summer Coffee กลายเป็นโปรดักต์ที่เขาซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านเหมือนเวลาที่เขาซื้อของฝากอย่างอื่นของไทยกลับประเทศ เราเลยมองหาโลเคชั่นที่ทาร์เก็ตไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะ เพื่อทำร้านที่เป็นรีเทลจริงๆ และวางขายโปรดักต์ของเราที่ออกแบบเป็นกล่องสวยๆ ผูกโบว์เป็นของฝาก 

“ก็เลยเป็นที่มาของสาขาพารากอนนี่แหละครับ เพราะมันเป็นรีเทลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์จริงๆ ที่เราจะทดลองว่าสิ่งที่เราหวังมันเป็นไปได้จริงไหม” กอล์ฟทิ้งท้าย




“การเริ่มต้น The Summer Coffee ที่อยุธยา ผมว่ามันเป็นความบังเอิญ”

ครั้งแรกที่เราแวะมาจิบกาแฟที่ร้าน The Summer Coffee ณ ย่านตลาดน้อย ซึ่งเป็นสาขาแรกในกรุงเทพฯ นั้น สืบเนื่องมาจากน้องที่ทำงานด้วยกันแนะนำให้มาลองชิม รสชาติกาแฟที่ถูกปาก บวกกับเบเกิลที่เนื้อหนึบโดนใจ นำมาสู่การนัดพูดคุยกับเจ้าของร้าน กอล์ฟ-คณิน อนันรยา โดยมี โน้ต-ชุติมา อนันรยา หุ้นส่วนชีวิตของกอล์ฟ เป็นผู้ประสานงานให้วงสนทนาในร้านแห่งนี้เกิดขึ้น

กอล์ฟเล่าให้ฟังว่าพวกเขาเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด โน้ตเป็นคนสาธุประดิษฐ์ ส่วนเขาเติบโตมาในย่านพระราม 3 แต่สาเหตุที่ทำให้ทั้งคู่ผันตัวเองจากการทำงานในอุตสาหกรรมอื่นมาเริ่มต้นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอย่างจริงจังที่ต่างจังหวัดแทนที่จะเป็นบ้านเกิดของตัวเองนั้น เป็นเพราะกอล์ฟมีบ้านพักตากอากาศริมน้ำที่อยุธยาอยู่แล้ว 

“เราเป็นหน้าใหม่ในวงการ F&B อย่างน้อยถ้าไม่สำเร็จ ก็คิดว่าเราตกแต่งบ้านให้สวยขึ้น นั่นเลยเป็นจุดเริ่มต้นว่าตอนนั้นทำไมต้องเป็นอยุธยา”

แม้ก้าวแรกจะมาจากความบังเอิญ แต่ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นความบังเอิญที่เกิดขึ้นถูกที่ถูกเวลา เพราะอยุธยาที่ทั้งคู่ใช้เป็นฐานที่มั่นในการเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองนั้นมีศักยภาพที่แข็งแกร่ง ซึ่งช่วยผลักดันให้แบรนด์ The Summer Coffee ค่อยๆ เติบโตได้อย่างมั่นคง

ศักยภาพแรกที่กอล์ฟและโน้ตเห็นคือความเป็นเมืองท่องเที่ยวของอยุธยา คนจากกรุงเทพฯ จำนวนมากมักจัด One-Day Trip ไหว้พระตามวัดวาอารามต่างๆ ในกรุงเก่าแห่งนี้ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีการแวะเติมพลังระหว่างทริป โดยสวนอาหารคือสถานที่ลำดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ใช้เป็นจุดคลายเหนื่อย แต่กอล์ฟมองว่าไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการหยุดพักเพื่อรับประทานอาหารมื้อใหญ่เสมอไป บางคนอาจจะต้องการแค่กาแฟหรือเครื่องดื่มสักแก้ว และขนมชิ้นเล็กๆ สักชิ้นสองชิ้น นี่จึงเป็นศักยภาพที่ดีที่จะสร้าง The Summer Coffee ขึ้นมาเพื่อเป็นหนึ่งทางเลือกให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังอยุธยา

ทรัพยากรบุคคลเองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของทั้งคู่ กอล์ฟบอกว่าเขาโชคดีที่ได้คนรุ่นใหม่ในอยุธยาที่มีใจรักงานบริการมาร่วมงานกับเขา เซอร์วิสที่เปี่ยมไปด้วยความจริงใจและเต็มที่เกินร้อยสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้าที่แวะเวียนมาที่ร้านได้เป็นอย่างดี

ศักยภาพสุดท้ายและเป็นปัจจัยที่สำคัญ นั่นก็คือพื้นที่ที่ยืดหยุ่นและกว้างขวางของอยุธยา ซึ่งทำให้ The Summer Coffee สามารถสร้างโรงงานคั่วกาแฟของตัวเองได้ และนำไปสู่การทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกาแฟที่ผลิตเองไปยังผู้บริโภคโดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์ โดยการขายกาแฟออนไลน์นี้เองที่ทำให้กอล์ฟและโน้ตมองเห็นลู่ทางในการขยายแบรนด์ของตัวเองสู่กรุงเทพฯ 

“การขายออนไลน์ในตอนนั้นของเราตรงกับจังหวะโควิดพอดี เลยทำให้เรามีฐานลูกค้าที่เป็น Home Brewer หรือคนดื่มกาแฟที่บ้านเยอะ และจากการแชตคุยกับพวกเขาอยู่ตลอด ผมก็รู้สึกได้ว่ามีความต้องการให้ร้านของเราไปเปิดที่กรุงเทพฯ อีกทั้งยังได้ข้อมูลจากลูกค้าที่เป็นแฟนกาแฟ The Summer ซึ่งมักจะขับรถจากกรุงเทพฯ ไปถึงอยุธยาทุกสุดสัปดาห์ เลยคิดว่ามันมีโอกาสในกรุงเทพฯ ถึงเวลาแล้วที่ต้องมาเปิด บวกกับรู้สึกว่าเราอยู่ในอุตสาหกรรมกาแฟมาสักพักจนถึงจุดที่คิดว่าถ้าเราไปเปิดร้านที่กรุงเทพฯ ก็น่าจะได้รับการต้อนรับจากคนในพื้นที่” 


IIIi - จากกรุงเก่าสู่ย่านโอลด์ทาวน์ในกรุงเทพฯ

แล้วทำไมสาขาแรกในกรุงเทพฯ ต้องเป็นที่ ‘ตลาดน้อย’? 

“สาขาแรกในกรุงเทพฯ เราต้องการพื้นที่ที่เป็นสแตนด์อโลน ไม่อยู่ในห้าง ไม่เป็นพื้นที่ที่จำกัดตัวตนของเรา”

หลังจากเซ็ตคาแรกเตอร์คร่าวๆ ของร้านแรกในเมืองบ้านเกิดของตัวเองได้แล้ว กอล์ฟก็เริ่มเสาะหาพื้นที่ในย่านต่างๆ ทั้งสุขุมวิทและอารีย์ แต่กลับไม่มีตลาดน้อยอยู่ในลิสต์ ทว่าความบังเอิญก็เกิดขึ้นกับพวกเขาอีกครั้ง เมื่อเจ้าของโครงการ The Warehouse ซึ่งเป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว ได้เล่าให้ทั้งคู่ฟังถึงโปรเจกต์การสร้างคอมมูนิตี้สเปซนี้ในย่านตลาดน้อย

“ผมถามเขากลับไปนะว่าทำไมต้องเป็นตลาดน้อย ไม่เป็นที่อื่น” กอล์ฟบอกเราถึงความสงสัยของตัวเองในครั้งนั้น “เขาก็ชวนผมมาดูพื้นที่เลย พอเห็นแล้ว ผมก็รู้สึกว่า ไวบ์มันดีนะ และระหว่างนั้นเราได้เห็นคนต่างชาติเดินไปเดินมา ซึ่งเกิดเป็นคำถามในหัวว่า ‘มาจากไหนและมาทำอะไรกันแถวนี้’ แต่พอได้คุยกับเจ้าของโครงการ ผมก็หาจุดเชื่อมโยงระหว่างย่านนี้กับแบรนด์ The Summer Coffee เจอ

“The Summer Coffee สาขาแรกในอยุธยาอยู่ในโซนโอลด์ทาวน์ ซึ่งตลาดน้อยก็เป็นย่านโอลด์ทาวน์ที่ทุกคนเข้ามาซึมซับกลิ่นอายความเป็นอดีตเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการเปิดสาขาแรกของกรุงเทพฯ ในย่านนี้ ผมก็รู้สึกว่ามันสะท้อนตัวตนดั้งเดิมของเราที่มีมาตั้งแต่ต้น และสามารถต่อยอดให้เติบโตได้ไม่ยาก” 

แม้ทั้งคู่จะมองว่าสาขาในกรุงเทพฯ คือโอกาสของแบรนด์ The Summer Coffee แต่ด้วยโพสิชั่นที่ไม่เหมือนกัน แน่นอนว่าย่อมนำมาซึ่งความท้าทายที่แตกต่างในการดำเนินร้าน

“ชาเลนจ์ของสาขาในอยุธยาคือการสร้างทราฟฟิกมายังร้านเรา จะทำยังไงให้นักท่องเที่ยวขับรถมาหาเรา จะทำยังไงให้คาเฟ่ The Summer Coffee เป็นสต็อปหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวของเขา” โน้ตอธิบาย “พอเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ ชาเลนจ์ของเราคือทำยังไงให้กาแฟของเราเป็น ‘Everyday Cup of Coffee’ ของลูกค้า มันเป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์แล้ว

โน้ตมองว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีผู้บริโภคกาแฟเป็นจำนวนมาก ซึ่งกาแฟคือเครื่องดื่มที่เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันของคนเหล่านั้น

“ตอนเราเริ่มรีเทลออนไลน์ ลูกค้าสั่งซื้อกาแฟจากเราเพื่อไปชงเป็น everyday cup of coffee ของเขา เมื่อเรามีคาเฟ่ในกรุงเทพฯ แล้ว เราจะทำยังไงให้เขานึกถึงเราเมื่อเขาอยากดื่มกาแฟจริงๆ ไม่ใช่แค่นึกถึงเราเมื่ออยากจะเที่ยวคาเฟ่หรือหาที่แฮงก์เอาต์ มันต่างจากอยุธยาโดยสิ้นเชิง” 

แม้ไม่แน่ใจว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่การก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนเพื่อสร้างตัวตนในโลเคชั่นใหม่พร้อมเป้าหมายที่แตกต่างครั้งนี้กลับได้รับผลตอบรับที่น่าพึงพอใจ

“สำหรับผม The Summer Coffee เพอร์ฟอร์มได้ดีในฐานะอีคอมเมิร์ซ หรือร้านกาแฟรีเทลออนไลน์ เรามีแฟนเบสที่ซื้อกาแฟเราเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งนี้ไม่ได้รับประกันว่าการเปิดสาขาในกรุงเทพฯ จะประสบความสำเร็จ” กอล์ฟยอมรับ 

“แต่สุดท้ายพอเราเปิดจริงๆ แล้ว ก็ต้องบอกว่าดีใจ เพราะเราได้รับฟีดแบ็กจากลูกค้าเกือบ 60% ที่ซื้อเมล็ดกาแฟของเราผ่านช่องทางออนไลน์และอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ว่า ‘ในที่สุด The Summer ก็มาเปิดร้านที่กรุงเทพฯ ได้มาลองชิมกาแฟของเขาแล้ว’ หรือที่ได้ยินบ่อยๆ เลยก็คือ ‘กินกาแฟเจ้านี้มาตั้งหลายปี เพิ่งได้มากินที่หน้าร้านก็ครั้งนี้แหละ’ มันเหมือนเขาได้มีปฏิสัมพันธ์หรือสัมผัสประสบการณ์ที่เกี่ยวกับกาแฟที่หน้าร้านได้แล้วจริงๆ”

“กาแฟที่ลูกค้าในกรุงเทพฯ นิยมสั่งก็จะเป็นแก้วเบสิกอย่างลาเต้ อเมริกาโน่ หรือกาแฟดริป” โน้ตเสริม “ต่างจากอยุธยาที่คนชอบสั่งกาแฟแนวแฟนซีที่เพิ่มลูกเล่นหรือท็อปปิ้งต่างๆ มากกว่า ก็แสดงให้เห็นว่ากาแฟร้านเราเป็น Everyday Coffee ของคนกรุงเทพฯ ได้จริงๆ”


IIIi - สานสัมพันธ์กับต้นน้ำในสายธารอุตสาหกรรมกาแฟ

“เราทำโรงคั่วมาจนถึงปีนี้เข้าปีที่ 4 แล้วครับ”

พูดคุยเกี่ยวกับพาร์ตคาเฟ่ที่ตั้งต้นจากอยุธยาและเดินทางสู่ย่านตลาดน้อยในกรุงเทพฯ กันพอหอมปากหอมคอแล้ว เราชวนกอล์ฟและโน้ตเจาะลึกบทบาทการเป็นโรงคั่วของ The Summer Coffee บ้าง

อย่างที่ได้เกริ่นไปบ้างแล้วในช่วงต้นว่าวัตถุประสงค์แรกในการสร้างโรงคั่วของ The Summer Coffee ขึ้นมาก็เพราะจะได้นำกาแฟที่คั่วได้นั้นมาใช้หน้าร้านคาเฟ่ของตัวเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขามองว่าสามารถขายกาแฟเหล่านี้สู่ผู้บริโภคโดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์ได้ด้วย

ในช่วง 2 ปีแรกที่คั่วกาแฟแล้วขายผ่านช่องทางออนไลน์นั้น The Summer Coffee ซื้อ ‘กาแฟสาร’ หรือเมล็ดกาแฟดิบ (green bean) จากเทรดเดอร์ แต่เมื่อปริมาณการผลิตเริ่มเติบโตขึ้น ทางแบรนด์จึงเริ่มขยับขยายไปร่วมงานกับภาคเกษตรกรมากขึ้น โดยกอล์ฟจำกัดความสิ่งที่แบรนด์ The Summer Coffee ทำว่าเป็นการพัฒนาบทบาทของตัวเองในฐานะโรงคั่ว จากแต่ก่อนผูกสัมพันธ์กับปลายน้ำของอุตสาหกรรมกาแฟ ซึ่งก็คือผู้บริโภค ผ่านการจำหน่ายกาแฟที่คั่วแล้วเพียงอย่างเดียว สู่การสร้างพันธมิตรร่วมกับต้นน้ำ หรือชุมชนผู้เพาะปลูกกาแฟ เพื่อปลดล็อกปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการซื้อจากเทรดเดอร์ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และคุณภาพกาแฟที่ไม่แน่นอน ไม่สามารถควบคุมให้คงที่ได้

“ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว The Summer ซื้อโรงสี 2 ที่ ที่แรกอยู่บนดอยห้วยน้ำขุ่น ที่เชียงราย ส่วนอีกที่อยู่ในอำเภอพร้าว เชียงใหม่ การซื้อโรงสีนั้นหมายถึงเราขยับไปร่วมงานกับทางต้นน้ำมากขึ้น เราได้ทำงานกับชุมชนบนดอยที่มีหลากหลายกลุ่ม ปีนี้จึงเป็นปีที่เราไม่กังวลเรื่องคุณภาพกาแฟเลย เพราะการมีโรงสีของตัวเองทำให้เราสามารถโฟกัสได้เลยว่าเราอยากได้กาแฟสายพันธุ์นี้ สีแบบนี้ จากฟาร์มนี้ในภูมิภาคนี้ เรามั่นใจในเรื่องคุณภาพได้

“ถึงอย่างนั้นการไปทำงานกับเกษตรกรเหล่านั้นไม่ใช่แค่เราอยากจะได้กาแฟจากพวกเขาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการผลักดันให้พวกเขาให้ความสำคัญกับคำว่า ‘คุณภาพของกาแฟ’ ตั้งแต่วิธีการเก็บผลเชอร์รี่กาแฟและการหมักเมล็ดกาแฟ โดยช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เราส่งคนในทีมขึ้นไปทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรเลย เพื่อตรวจสอบความคงที่ของคุณภาพ เมื่อเราไปคลุกคลีกับเขาเยอะๆ และยืนยันว่าถ้ากาแฟของเขาดี เราสามารถซื้อได้เรื่อยๆ ก็จะเป็นการช่วยสนับสนุนให้เขาอยากพัฒนาคุณภาพกาแฟของตัวเองตลอดไป และราคาที่ได้ก็จะดีขึ้นตามคุณภาพไปด้วย”

Thailand’s Coffee Series คือผลลัพธ์จากการสร้างโรงสีและร่วมงานกับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยในซีรีส์นี้ประกอบไปด้วยกาแฟที่มีรสชาติและคาแรกเตอร์เป็นเอกลักษณ์จากฟาร์มต่างๆ บน ‘ถนนกาแฟ’ ที่ตั้งเชื่อมระหว่าง 2 จังหวัดดังกล่าว ซึ่ง The Summer Coffee จะสลับสับเปลี่ยนให้ผู้บริโภคได้ชิมตลอดทั้งปี เริ่มตั้งแต่ ภูผาเอสเธท (Phupha Estate) ที่อยู่ในเขตเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ไปจนถึงฟาร์มที่อยู่ในเขตห้วยน้ำขุ่น และดอยช้างในจังหวัดเชียงราย นอกจากนี้เมื่อไม่นานมานี้ The Summer Coffee ได้รับเชิญจากโครงการแม่ฟ้าหลวงให้ร่วมทำวิจัยเกี่ยวกับกาแฟสายพันธุ์พิเศษในเขตดอยตุงอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น The Summer Coffee ยังร่วมงานกับเกษตรกรผู้เพาะปลูกกาแฟในต่างประเทศอย่างประเทศโคลอมเบียและเอธิโอเปียอีกด้วย 

“สองประเทศนี้ทำกาแฟอร่อยและเราก็ใช้กาแฟจากเขาเยอะเหมือนกัน ยกตัวอย่างกาแฟตัวหนึ่งของเราที่ชื่อว่า ‘Mr. Rum Raisin’ ที่ทำงานกับเกษตรกรในโคลอมเบีย โดยเราให้เขาใช้เทคนิคการหมักกาแฟในถังเหล้ารัม ซึ่งเป็นถังที่มีเฉพาะในประเทศที่ผลิตรัมได้เท่านั้น ซึ่งประเทศไทยยังไม่มี” กอล์ฟเล่า 

“เราเห็นหลายๆ อุตสาหกรรมใช้วิธีแบบนั้น เราเลยคิดว่ามันน่าจะช่วยสร้างประสบการณ์การดื่มกาแฟให้ยูนีกขึ้นมาได้ด้วยเช่นกัน เราก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่าการหมักในแต่ละเลเวลจะให้กลิ่นแบบใดบ้าง ซึ่งพอเราพัฒนาจนถึงจุดที่เราพอใจแล้ว เราก็สามารถผลิตกาแฟ Mr. Rum Raisin ได้ตลอดทั้งปี และสามารถวางขายได้ทุกปีโดยมีความคงที่ของคุณภาพสูงมาก และเราก็นำ Know-How เหล่านั้นมาใช้กับการทำงานกับเกษตรกรในไทยด้วย”


IIIi - อุตสาหกรรมกาแฟไทยในสายตาชาวโลก

ในฐานะผู้คลุกคลีกับอุตสาหกรรมกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เราจึงอดถามสองหนุ่มสาวผู้ขับเคลื่อน The Summer Coffee ไม่ได้ถึงมุมมองของพวกเขาที่มีต่ออุตสาหกรรมกาแฟไทยในเวทีโลก

กอล์ฟแชร์สิ่งที่ตัวเองได้พบเห็นผ่านประสบการณ์ของตัวเองว่ากลุ่มปลายน้ำ ตั้งแต่บาริสต้ามาจนถึงคาเฟ่ ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับและมีตัวตนในสายตาของนานาประเทศ

“เรามีคาเฟ่ที่มีบาริสต้าที่เก่ง ติดแชมป์โลกเยอะมากจนไม่ต้องสงสัยอีกต่อไปแล้วในเรื่องของสกิล ซึ่งกลุ่มนี้เองที่ช่วยผลักดันให้กาแฟที่สร้างสรรค์โดยคนไทยเป็นที่รู้จัก และผมเชื่อว่าหลายๆ ประเทศโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เขาก็เห็นเราเป็นเรเฟอเรนซ์ ขนาดตัวเราเองในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการคาเฟ่ ยังรู้สึกเซอร์ไพรส์ที่มักจะได้รับการทักทายหรือได้รู้ว่ามีการติดตามเราจากชาวต่างชาติอยู่บ่อยๆ ล่าสุดผมไปโอมาน ก็มีคนมาขอดูวิธีการทำกาแฟจากเรา เพราะฉะนั้นปลายน้ำของอุตสาหกรรมกาแฟไทยทำได้ดีมากแล้ว”

กระนั้นสิ่งที่ยังขาดคือ ‘ปริมาณการบริโภคกาแฟ’ 

“เทียบกับเกาหลีใต้และออสเตรเลีย คัลเจอร์การบริโภคกาแฟเขาเยอะกว่าเรา คนหนึ่งอาจจะกินสองแก้วหรือสามแก้วต่อวัน ใครเดินผ่านไปผ่านมาก็เห็นว่ากินกาแฟ สิ่งนี้ช่วยให้ปริมาณการบริโภคกาแฟของสองประเทศนี้เติบโต แต่ของไทยเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมทุกวันนี้น่าจะยังเป็นชานมไข่มุก ซึ่งสูงกว่าการดื่มกาแฟ แน่นอนว่าต่อให้เรามีคาเฟ่ที่มีบาริสต้าที่เก่ง ก็ไม่สามารถอยู่ได้ตลอดไป ถ้าผู้บริโภคไม่เยอะพอ แต่ผมเชื่อว่าร้านที่ดีและบาริสต้าที่ดีจะเป็นกลไกที่ช่วยให้ผู้บริโภคค่อยๆ หันมาเริ่มดื่มกาแฟกันมากขึ้น”

ส่วนในพาร์ตของโรงคั่วกาแฟหรือ Roaster นั้น กอล์ฟมองว่ากลุ่มนี้ในไทยเข้าถึงเทคโนโลยีและองค์ความรู้สมัยใหม่ รวมถึงมีทักษะที่ยอดเยี่ยมและแข็งแกร่งจนได้รับความสนใจมากขึ้นจากทั่วโลก

“ผมคิดว่ากลุ่มนี้ของไทยติดท็อป 10 ของโลกนี้เลย ผมมีโอกาสได้เจอเซลส์ของ Mahlkonig แบรนด์เครื่องบดกาแฟชื่อดังของโลกที่คาเฟ่หลายๆ ร้านใช้กัน เขาบอกผมว่าในแถบเอเชีย-แปซิฟิก ถ้าไม่นับออสเตรเลีย ไทยมียอดขายอันดับหนึ่ง แสดงว่าอุตสาหกรรมกาแฟไทยกำลังได้รับความสนใจจากต่างชาติ 

“แต่ก่อนพูดได้เลยว่าคนไทยไม่ค่อยมีโอกาสได้กินกาแฟนอกดีๆ เพราะประเทศอื่นซื้อไปหมด แต่เดี๋ยวนี้เทรดเดอร์ทั่วโลกมองไทยเป็นลูกค้าเบอร์ต้นๆ ของเขา กาแฟดีๆ เข้าไทยเยอะมากและเรามีโอกาสได้เลือกก่อนด้วย”


อย่างไรก็ตาม ในพาร์ตของต้นน้ำ หรือภาคเกษตรกรรมรวมถึงโรงสีนั้น กอล์ฟมองว่าการแข่งขันในตลาดโลกยังเป็นไปได้ยาก

“ชาวไร่กาแฟของเราไม่ได้แพ้ใครเลย แต่ด้วยธรรมชาติ สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ทำให้เป็นเรื่องยากนิดนึง จากข้อมูลทำให้เรารู้ว่าไทยผลิตกาแฟได้ประมาณ 30,000 กว่าตันต่อปี ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศที่มีประมาณแสนกว่าตันต่อปีเลย ดังนั้นการจะส่งออกเพื่อแข่งขันกับเจ้าอื่นๆ ในตลาดโลกในเรื่องของปริมาณก็ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ แต่ด้วยจำนวนการผลิตที่มีอย่างจำกัดนี้เอง ทำให้เราผลักดันในเรื่องคุณภาพแทน เพื่อให้ตลาดโฟกัสที่มิตินี้ของเรา ซึ่งสุดท้ายก็จะนำไปสู่ราคาที่พุ่งสูงขึ้นและรายได้ที่มากขึ้น”

เมื่อรับรู้ถึงสถานการณ์ในแต่ละภาคส่วนของอุตสาหกรรมกาแฟไทยแล้ว เราจึงถามกอล์ฟเกี่ยวกับการทำให้อุตสาหกรรมนี้ทั้งระบบสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กันในมุมมองของเขาต่อทันที

“ความยั่งยืนสำหรับผม ต้องมองที่ผู้บริโภคก่อน ตราบใดที่มีผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ยังไงมันก็ยั่งยืน ซึ่งการทำให้ปริมาณการบริโภคสูงขึ้นจนทำให้ทั้งอุตสาหกรรมอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้น ‘โปรดักต์ต้องมีคุณภาพอย่างแท้จริง’ ทุกวันนี้ผู้บริโภคมีความรู้และมีสื่อที่ทำให้เขาสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อนำมาใช้เปรียบเทียบโปรดักต์ต่างๆ ที่อยู่ในตลาดได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร คนคั่วกาแฟ บาริสต้า รวมถึงร้านกาแฟ ที่ต้องจริงใจกับผู้บริโภค ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคว่ากาแฟของเรามีคุณภาพระดับมาตรฐานโลก และสามารถส่งมอบกาแฟที่ดีที่เป็นแก้วโปรดในทุกๆ วันให้แก่พวกเขาได้ ถ้าคน 3-4 กลุ่มนี้สามารถจับมือกันผลักดันให้คุณภาพของกาแฟไทยไปสู่จุดนั้นได้ และทำให้ทุกคนสามารถเอ็นจอยกับการดื่มกาแฟได้เรื่อยๆ ผมก็เชื่อว่ากลุ่มผู้บริโภคก็จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง”

คำว่า ‘คุณภาพ’ ที่กอล์ฟกล่าวถึงนั้นไม่ใช่กาแฟที่อร่อยและแพงที่สุด

“คุณภาพในที่นี้คือทุกคนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมกาแฟ ‘แข่งขันกัน’ เพื่อพัฒนาให้กาแฟมีคุณภาพดีขึ้นในราคาที่ถูกลง และตัวเลือกมีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคยังอยู่กับเรา อีกทั้งยังสามารถสร้างกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มขึ้นได้ ผมมองว่าการแข่งขันเป็นสิ่งที่ดี มันช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมทั้งกลุ่มเติบโตไปได้ไกลขึ้น” 


IIIi - มุ่งมั่นต่อไปในฐานะ ‘แก้วโปรด’ ของทุกคน

“เป้าหมายตั้งแต่แรกของเราคืออยากจะเป็น ‘Favorite Cup of Coffee’ ที่ทุกๆ คนเอ็นจอยได้ในทุกๆ วัน”

กอล์ฟให้คำตอบแก่เราเมื่อถามถึงจุดหมายต่อไปในอนาคตของการทำแบรนด์ The Summer Coffee

“การทำกาแฟของเราให้เป็น ‘แก้วโปรด’ ของทุกคนได้นั้นเป็นโจทย์ที่ฟังดูง่าย แต่จริงๆ แล้วมันยากมาก เพราะไม่ใช่แค่การทำให้ทุกคนดื่มแล้วรู้สึกว่าอร่อยจัง แต่ต้องทำให้เขานึกถึงชื่อของ The Summer ทุกครั้งเมื่อต้องการดื่มกาแฟ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงแค่การพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ที่ล่าสุดเราสามารถรักษาความคงที่ของคุณภาพจากทางต้นน้ำได้แล้วเท่านั้น แต่การทำให้ผู้บริโภค ‘เข้าถึง’ กาแฟของเราได้มากขึ้นก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน 

“ในอนาคตการเข้าถึง The Summer Coffee ก็จะมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การขยายหน้าร้านในกรุงเทพฯ ให้มีหลายสาขามากยิ่งขึ้น ซึ่งบางร้านก็อาจไม่ได้เป็นคาเฟ่ แต่เป็นร้านรีเทลที่ขายโปรดักต์กาแฟของ The Summer อย่างเดียว เพราะลูกค้าบางคนอาจจะไม่ได้อยากซื้อสินค้าของเราในฟอร์มแก้วเพื่อนั่งดื่มในคาเฟ่ แต่อาจจะอยากได้ในรูปแบบโปรดักต์อื่นๆ ของเรา ดังนั้นเราก็จะทำหน้าร้านแบบนั้นเพื่อตอบสนองลูกค้ากลุ่มนี้ด้วย”

“ให้ลูกค้าได้เข้ามาสัมผัสประสบการณ์ด้านกาแฟจริงๆ ได้พูดคุยอย่างเต็มที่กับคนแนะนำกาแฟของเราในพื้นที่หน้าร้าน ไม่ใช่แค่เข้ามาด้วยจุดประสงค์เพื่อการเที่ยวคาเฟ่เพียงอย่างเดียว” โน้ตเสริม


เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา สาขาที่สองในกรุงเทพฯ ของ The Summer Coffee ได้เปิดทำการอย่างเป็นทางการแล้วที่ชั้น G ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยโฟกัสของสาขานี้เน้นที่รีเทลเป็นหลัก แต่ก็มีโซนคาเฟ่เปิดให้บริการด้วย

“สาขานี้เป็นสาขาแรกที่เราได้ลองเปิดให้บริการในห้าง เหตุผลเป็นเพราะในปีที่ผ่านมา The Summer Coffee ไปออกป๊อปอัปตามห้างต่างๆ ถึง 8 งาน เราได้เห็นว่ากลุ่มลูกค้าของเรามีชาวต่างชาติเยอะมาก เราเลยแอบฝันว่ามันคงจะดีนะถ้า The Summer Coffee กลายเป็นโปรดักต์ที่เขาซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านเหมือนเวลาที่เขาซื้อของฝากอย่างอื่นของไทยกลับประเทศ เราเลยมองหาโลเคชั่นที่ทาร์เก็ตไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะ เพื่อทำร้านที่เป็นรีเทลจริงๆ และวางขายโปรดักต์ของเราที่ออกแบบเป็นกล่องสวยๆ ผูกโบว์เป็นของฝาก 

“ก็เลยเป็นที่มาของสาขาพารากอนนี่แหละครับ เพราะมันเป็นรีเทลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์จริงๆ ที่เราจะทดลองว่าสิ่งที่เราหวังมันเป็นไปได้จริงไหม” กอล์ฟทิ้งท้าย




Text:

Witthawat P.

Witthawat P.

PHOTO:

Chanathip K.

Chanathip K.

Related Posts