KanVela กับแพชชันในการผลักดันช็อกโกแลตไทยโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

KanVela กับแพชชันในการผลักดันช็อกโกแลตไทยโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

24 พ.ย. 2566

SHARE WITH:

24 พ.ย. 2566

24 พ.ย. 2566

SHARE WITH:

SHARE WITH:

KanVela กับแพชชันในการผลักดันช็อกโกแลตไทยโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“ผมตั้งใจให้ ‘กานเวลา’ เป็นแบรนด์ช็อกโกแลตของคนไทย ต้องการให้คนไทยได้กินช็อกโกแลตที่ดีในราคาที่จับต้องได้”

ธนา คุณารักษ์วงศ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ‘กานเวลา’ (KanVela) อธิบายถึงจุดประสงค์ของการสร้างแบรนด์คราฟต์ช็อกโกแลตนี้ขึ้นมา ซึ่งช่วยไขข้อสงสัยในคำถามของเราที่ว่าทำไมแบรนด์ถึงขยายสาขาจากต้นกำเนิดในเชียงใหม่สู่เมืองหลวงของประเทศอย่างกรุงเทพมหานคร 

“เพราะฉะนั้นเราไม่ได้โฟกัสเฉพาะคนเชียงใหม่เพียงอย่างเดียว แต่เวลาที่คนไทยนึกถึงช็อกโกแลต เราอยากให้กานเวลาเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่พวกเขานึกถึง เราอยากจะทำคุณภาพสินค้าของเราให้ไปถึงจุดนั้นให้ได้ เพียงแต่ว่าพื้นเพของเราอยู่ที่เชียงใหม่ เราเลยเริ่มต้นที่เชียงใหม่แค่นั้นเอง”


กานเวลาเริ่มต้นจากการปลูกต้นโกโก้บริเวณริมรั้วบ้านของธนาและขยายต่อยอดเป็นสวนโกโก้ขนาดใหญ่จำนวนหลายพันต้นที่เชียงใหม่ จากนั้นก็มาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต ที่ใช้วัตถุดิบจากต้นโกโก้ทั้งในสวนของกานเวลาเองและจากกลุ่มเกษตรกรที่ส่งผลผลิตมาให้ และพัฒนาจนได้รสชาติเป็นเอกลักษณ์และมีคุณภาพมาตรฐานระดับนานาชาติ

แล้วทำไมกานเวลาถึงมาเปิดที่กรุงเทพฯ หลักๆ เลยคือมีกระแสจากกรุงเทพฯ สอบถามกันมาเยอะมากว่าเมื่อไรจะมาเปิดสาขา ซึ่งเมื่อดูสัดส่วนของลูกค้าในสาขาเชียงใหม่แล้ว ก็พบว่าประมาณ 40-50% เป็นคนต่างจังหวัด โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ถือว่าเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งเลย ซึ่งมักจะสั่งทางออนไลน์ แต่เนื่องจากสินค้าช็อกโกแลตต้องส่งแบบแช่เย็นเพื่อควบคุมอุณหภูมิ โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 200 กว่าบาท ลูกค้ากรุงเทพฯ บางคนเขาก็เสียดายค่าขนส่งนี้ เราเลยมองว่าถ้าวันหนึ่งมีความพร้อมมากขึ้น เราก็อยากจะเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ เพื่อใกล้ชิดกับลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น และก็สอดคล้องกับจุดประสงค์ตั้งต้นของเราที่อยากทำช็อกโกแลตให้เข้าถึงคนไทยทุกคนให้มากที่สุด การเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเติมเต็มความฝันของเราตั้งแต่เริ่มแบรนด์ได้” 


ในระหว่างนั้น กานเวลาก็ได้รับการติดต่อจากเจ้าของพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ มากมาย ธนาจึงนำข้อมูลของหลายๆ แห่งมาเปรียบเทียบกัน และในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นสาขาแรกของตัวเองในกรุงเทพฯ เพราะเคยมีประสบการณ์การออกงานแสดงสินค้าในพื้นที่แห่งนี้ อีกทั้งหลังรีโนเวตเสร็จแล้วก็มีความทันสมัยมากขึ้น แถมยังเดินทางสะดวกเพราะตั้งอยู่ใจกลางเมือง ซึ่งไปด้วยกันได้ดีกับคอนเซปต์ของกานเวลาที่ต้องการเป็นแบรนด์ช็อกโกแลตคุณภาพดีที่เข้าถึงได้ง่าย

“เราเลือกที่นี่เป็นที่แรกและก็ยังเป็นที่เดียวอยู่ตอนนี้เพราะเราอยากศึกษาดูก่อนว่าการบริหารจัดการ การผลิตสินค้า และการขนส่งสินค้า ที่มีต้นทางจากครัวกลางอยู่ที่เชียงใหม่มันโอเคไหม จะส่งผลกระทบใดๆ ต่อคุณภาพสินค้าในพื้นที่ปลายทางอย่างกรุงเทพฯ หรือไม่ นี่คือโจทย์หลักเลยตั้งแต่เปิดร้านมาประมาณ 2 เดือนกว่าๆ เพื่อดูว่ามีอะไรต้องปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาบ้าง”


ตลอด 2 เดือนกว่าๆ ในการ ‘Soft Opening’ ของสาขาในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีลูกค้าประจำของร้านหลายคนแวะเวียนเข้ามาทักทายและแสดงความดีใจที่ร้านช็อกโกแลตร้านโปรดที่เชียงใหม่มาเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ เสียที ในขณะเดียวกัน กานเวลาก็ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายด้วยเช่นกัน ตั้งแต่การขนส่งสินค้าบางชนิดที่ค่อนข้างเปราะบางจากเชียงใหม่มายังกรุงเทพฯ ซึ่งเกิดความเสียหายจนไม่สามารถวางจำหน่ายได้ ทำให้ทางแบรนด์ต้องปรับปรุงแพ็กเกจจิ้งให้มีความทนทาน เอื้อต่อการขนส่งมากกว่าเดิม ไปจนถึงการเซ็ตระบบของทีมพนักงานหน้าร้านที่กรุงเทพฯ ให้เข้าใจถึงตัวผลิตภัณฑ์และวิธีการทำของแต่ละชนิด รวมถึงวัฒนธรรมองค์กรของกานเวลาว่ามีวิธีการทำงานและมุมมองในการนำเสนอสินค้าสู่ลูกค้าแบบใด

“ก่อนเปิดร้าน เราให้ทีมที่กรุงเทพฯ เข้าไปเทรนที่สาขาเชียงใหม่ก่อนหนึ่งอาทิตย์ และในช่วงที่เปิดร้านใหม่ๆ เราก็ส่งพนักงานจากเชียงใหม่เข้ามาช่วยคุมมาตรฐานต่างๆ ในเบื้องต้นด้วย แน่นอนว่า 2 เดือนแรกในกรุงเทพฯ ยังไม่ราบรื่นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราก็พยายามทำทุกอย่างให้ไร้ที่ติมากที่สุด และเป็นช่วงเวลาของการเก็บข้อมูล เพื่อที่จะได้นำฟีดแบ็กที่ได้รับไปพัฒนาต่อให้ดียิ่งขึ้น”



IIIi - ความภูมิใจและคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรและพนักงานร้านคือนิยามความยั่งยืนของกานเวลา

“ในภาพรวมเราพยายามทำทุกอย่างภายใต้ ‘ความยั่งยืน’ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละพาร์ต ถ้าเป็นในมุมของพนักงาน ผมอยากให้ทุกคนที่มาอยู่กับกานเวลามี ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’”

คุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงานร้านในมุมมองของธนานั้น แน่นอนว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องรายได้ ซึ่งหมายรวมถึงความก้าวหน้าและความมั่นคงทางอาชีพ อันนำไปสู่ความสุขสบายในอนาคตนั่นเอง อีกทั้งบรรยากาศในการทำงานและวัฒนธรรมขององค์กรก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน

“เราพยายามให้พนักงานมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ทั้งเรื่องการแสดงความคิดเห็นและการเสนอแนะไอเดียต่างๆ ผมอาจจะเป็นผู้ก่อตั้ง แต่ไม่ใช่ว่าทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับผม กานเวลาไม่ใช่องค์กรที่เป็น One Man Show เราเปิดรับฟังทุกอย่าง ใครที่เห็นว่าอะไรที่ไม่ดีและพัฒนาได้ สามารถแจ้งได้เลย เราพยายามให้พนักงานทุกคนทำงานด้วยความสบายใจ เพื่อที่ว่าเขาจะได้ส่งมอบบริการที่ดีให้แก่ลูกค้าได้”


นอกจากนี้กานเวลายังให้ ‘โอกาส’ แก่พนักงานทุกคนตามความสามารถที่มี 

“ผมเชื่อว่าชีวิตของทุกคนยังเต็มไปด้วยการเรียนรู้ แม้จะเรียนจบปริญญาแล้วก็ตาม เพราะฉะนั้นหากมีความสนใจ มีความตั้งใจ พนักงานทุกคนก็สามารถพัฒนาตัวเองได้ เพราะฉะนั้นเราจึงให้โอกาสคน ก่อนจะไปรับคนจากข้างนอก เราจะให้โอกาสคนข้างในของเราเองก่อน แทบจะทุกตำแหน่งเลย บางคนเป็นพนักงานบริการหน้าร้าน ทำเครื่องดื่ม แต่เขาเก่งเรื่องกราฟิกดีไซน์มากเลย ถึงเวลาที่เราอยากจะสร้างทีมกราฟิกเพิ่ม เราก็จะถามเขาก่อนว่าอยากจะปรับบทบาทมาทำตรงนี้ไหม ถ้าเขาอยากทำ เราก็ให้เขาย้ายตำแหน่งมาทำ ผมว่าอย่างนี้มันสนุก เพราะพนักงานทุกคนจะรู้เลยว่าขอแค่มีความสามารถ มีความตั้งใจ มีทัศนคติที่ดี เราก็พร้อมที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้เขาไปให้สุดเท่าที่เขาจะไปได้

“ตอนเปิดร้านใหม่ๆ เราแทบไม่ได้ทำมาร์เก็ตติ้งอะไรเลย อาศัยว่ามีสื่อที่เขาเห็นและชื่นชอบโมเดลการทำธุรกิจของเรามาสัมภาษณ์และกระจายเรื่องของเราออกไปในวงกว้าง ทำให้คนรู้จักและเวลาไปเชียงใหม่ก็แวะไปที่ร้านเรา ผมว่ามันเป็นสังคมของการเอื้อเฟื้อกัน กานเวลาได้โอกาสจากสื่อ จากลูกค้า จากคนไทย เราก็ส่งต่อโอกาสเหล่านี้ให้กับพนักงานของเราด้วย” 

ส่วนความยั่งยืนในพาร์ตเกษตรกรที่ส่งวัตถุดิบให้กานเวลานั้นหมายถึงเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่แบบ ‘มีความสุขและมั่นคง’ 

“ผมเริ่มต้นแบรนด์กานเวลาจากการปลูกโกโก้เองดูก่อน เราถึงรู้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายทุกๆ อย่างว่ามีอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นเราคำนวณแล้วว่าหากตั้งราคาช็อกโกแลตเท่านี้ เกษตรกรจะอยู่ได้แบบสุขสบายใจ ไม่เดือดร้อน นำไปสู่การส่งมอบวัตถุดิบที่ดีมาให้กานเวลาได้ แค่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ ในมุมมองของผมมันไม่เพียงพอ เพราะมันคือการอยู่แบบไม่มั่นคง เกษตรกรต้องอยู่ได้อย่างมีความสุขและมั่นคง”


จากการบอกเล่าของธนา เคยมีงานวิจัยระบุว่าสมมติว่าช็อกโกแลตหนึ่งแท่งราคา 100 บาท เกษตรกรจะได้รับส่วนแบ่ง 3 บาท หรือ 3% ของราคาช็อกโกแลตนั่นเอง แต่ด้วยกานเวลาทำทุกอย่างครบวงจรด้วยตัวเองนับตั้งแต่ขั้นตอนการสรรหาวัตถุดิบและการผลิตไปจนถึงมือของผู้บริโภค ทางแบรนด์จึงมองว่าสามารถเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ของเกษตรกรได้ถึง 10% ต่อราคาช็อกโกแลตหนึ่งแท่ง 

“นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องซื้อวัตถุดิบตรงจากเกษตรกร และทำไมเราถึงต้องเข้าไปช่วยพวกเขาพัฒนาผลผลิตแล้วรับซื้อในราคายุติธรรม” 

กานเวลาร่วมงานกับเกษตรกรทั้งในภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ รวมไปถึงเกษตรกรในหมู่บ้านคลองลอย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นที่มาของหนึ่งในผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตอย่าง ‘ช็อกโกแลตบาร์แบบวีแกน ดาร์ก 72% คลองลอยออริจิ้น’ ที่ได้รับการคัดเลือกให้ขึ้นไปเสิร์ฟบนชั้นธุรกิจของการบินไทย เกษตรกรเหล่านี้ส่วนใหญ่ปลูกต้นโกโก้และมีศักยภาพพร้อมอยู่แล้ว กานเวลาจะเข้าไปช่วยในเรื่องการให้ความรู้ในการแปรรูปวัตถุดิบขั้นต้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต

“เราเข้าไปสอนให้เขาทำเป็น เพราะถ้าเขาขายผลโกโก้สด เราให้เขาได้แค่กิโลละ 8 บาท 10 บาท แต่ว่าถ้าเขาแปรรูปได้ ทำเป็นเม็ดโกโก้แห้งได้ ใช้เวลาอีกแค่ 2 อาทิตย์ มูลค่าผลผลิตของเขาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเลย ซึ่งนี่ก็จะนำไปสู่คุณภาพชีวิตของเขาและครอบครัวที่ดีขึ้นด้วย”


ความรู้ที่กานเวลาเข้าไปสอนกลุ่มเกษตรกรก็คือ ‘ขั้นตอนการหมัก’ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อรสชาติของช็อกโกแลต คราฟต์ช็อกโกแลตของกานเวลามีความเข้มข้นของช็อกโกแลตในเปอร์เซ็นต์ที่สูง ไม่ใส่วานิลลาและไม่มีการปรุงแต่งใดๆ รสชาติจะถูกดึงออกมาจากวัตถุดิบล้วนๆ เพราะฉะนั้นวัตถุดิบที่นำมาใช้ต้องมีคุณภาพดี ขมน้อย ฝาดน้อย และขึ้นอยู่กับขั้นตอนการหมัก โดยการหมักในฤดูร้อนและฤดูหนาวที่มีสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศต่างกันย่อมส่งผลต่อรสชาติที่ไม่เหมือนกันด้วย จากนั้นก็จะเป็น ‘การตากแห้ง’ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องกัน

“เกษตรกรจะต้องใช้เวลาเรียนรู้จนครบ 1 ปีถึงจะเข้าใจกลไกทั้งหมดเพื่อนำไปออกแบบเป็นวิธีการเฉพาะของตัวเองได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงต้องคัดเกษตรกรที่จะมาร่วมงานกับเราอย่างจริงจัง เราไม่เคยหวงสูตรในการทำขั้นตอนเหล่านี้ แต่เราอยากได้คนที่มีความตั้งใจ เพราะตัวผมเองและตัวทีมงานหลงใหลในสิ่งที่ทำและอยากจะทำให้ดีขึ้นในทุกๆ วัน ดังนั้นคนที่จะมาทำงานกับเราต้องเป็นคนแบบเดียวกัน ถ้าเขาตั้งใจ รักในสิ่งที่กำลังทำ เราก็พร้อมสนับสนุนและช่วยดูแลกันเหมือนคนในครอบครัว”

นอกจากการให้ความรู้ในการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบที่ช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว กานเวลายังช่วยสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองให้แก่พวกเขาอีกด้วย

“เราไม่เคยปิดบังแหล่งวัตถุดิบของเรา เพราะผมมองว่านี่คือความภาคภูมิใจของชาวบ้านและเกษตรกร วันที่เราถ่ายพรีเซนเทชันกับการบินไทยเพื่อโปรโมตช็อกโกแลตของเราที่นำขึ้นไปเสิร์ฟบนชั้นธุรกิจและเฟิร์สคลาส ชาวบ้านคลองลอยเขามากันทั้งหมู่บ้านและบอกว่าดีใจมากๆ ไม่เคยคิดเลยว่าสิ่งที่เขาทำจะมีคุณค่า ซึ่งถ้ากานเวลาปิดบังแหล่งวัตถุดิบ กานเวลาไม่สนับสนุนให้เกษตรกรมีความภาคภูมิใจ พวกเขาก็จะไม่ได้รับโอกาสแบบนี้ ในทางกลับกัน พอเกษตรกรภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ พวกเขาก็จะยิ่งอยากทำของดีๆ ออกมาเรื่อยๆ”


แม้คุณภาพชีวิตที่ดีและความภาคภูมิใจของเกษตรกร รวมไปถึงพนักงานร้านจะเป็นสิ่งที่กานเวลาให้ความสำคัญและเป็นมาตรฐานหลักในการทำงานเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในนิยามของตัวเอง กระนั้นธนาก็ยอมรับว่าสิ่งนี้ต้องดำเนินไปพร้อมผลกำไรด้วยเช่นกัน

“ถ้าเราไม่มี profit เราก็ไม่สามารถสนับสนุนทุกคนได้ในระยะยาว อีกหนึ่งสาเหตุที่กานเวลาขยายเข้ากรุงเทพฯ นอกจากเหตุผลที่บอกไปตอนต้นแล้ว ก็คือมีคนติดต่อมาให้เราช่วยซื้อวัตถุดิบ เพราะฉะนั้นถ้าเราขยายตลาด เพิ่มฐานลูกค้าได้ เราก็จะสามารถช่วยซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรได้มากขึ้น”


IIIi - รสชาติช็อกโกแลตที่คำนึงถึงความสุขของลูกค้าทุกกลุ่ม

สินค้าของกานเวลามีหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นช็อกโกแลตบาร์ที่มีให้เลือกกว่า 10 รสชาติ ครอบคลุมตั้งแต่ดาร์กช็อกโกแลต เช่น ‘กานเวลา ไทยแลนด์ ออริจิ้น’ จากต้นโกโก้ที่ปลูกที่เชียงใหม่และประจวบคีรีขันธ์ ‘กานเวลา เชียงใหม่ ออริจิ้น’ จากต้นโกโก้ที่ปลูกที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และ ‘กานเวลา คลองลอย ออริจิ้น’ จากต้นโกโก้ที่ปลูกที่หมู่บ้านคลองลอยดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ไปจนถึงช็อกโกแลตนมและไวต์ช็อกโกแลต เช่น ‘กานเวลา สตรอว์เบอร์รี่ ไวต์ช็อกโกแลต’ และ ‘กานเวลา มอคค่าผสมข้าวพอง’ และคอลเลกชันพิเศษอย่าง ‘Northern Thai Series’ ที่ได้แรงบันดาลใจจากอาหารพื้นเมืองภาคเหนือ เช่น ข้าวซอยและแกงฮังเล อีกทั้งยังมี Bon Bon หรือช็อกโกแลตใส่ไส้ Couverture หรือเนื้อช็อกโกแลตที่ได้จากการบดปั่นเม็ดโกโก้ Cacao Powder หรือโกโก้ผง รวมถึงเครื่องดื่มช็อกโกแลตชนิดต่างๆ และไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟที่ขายหน้าร้านอีกด้วย

“ผมว่าสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ‘ความทรงจำ’ เพราะฉะนั้นเราเลยพยายามสร้างความทรงจำที่ดีให้เกิดขึ้นกับตัวสินค้า โอเค เราไม่สามารถทำสินค้าให้ถูกใจลูกค้าทุกคนได้ แต่อย่างน้อยสัก 7 คนจาก 10 คน เราก็แฮปปี้ละ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะพอใจอยู่แค่นั้น เราพยายามเพิ่มให้เป็น 8 เป็น 9 ถ้าวันหนึ่งได้ถึง 10 ก็จะดีมาก นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมไลน์สินค้าของกานเวลาถึงมีเยอะมาก อย่างน้อยลูกค้ามาที่กานเวลาแล้ว ก็มีสักอย่างที่ลูกค้ากินแล้วอร่อย ถูกใจ ซึ่งเราก็พยายามเก็บข้อมูลจากลูกค้า เพื่อออกสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม”


สำหรับธนาและกานเวลา ‘ความสุขของลูกค้า’ สำคัญกว่าการสนองอัตตาของตัวเอง

“ตอนที่เราเทสต์สูตรช็อกโกแลตของเรา เรารู้ว่ารสชาติแบบไหนคือรสชาติ speciality ของช็อกโกแลตที่พิเศษมากๆ แต่คน 10 คนมากิน มีแค่ 2 คนที่ชอบแบบนี้ แต่อีก 8 คนไม่ชอบ เปิดร้านวันแรกช่วงบ่ายมีลูกค้าเรียกผมไปถามว่าช็อกโกแลตร้อนนี้นมบูดหรือเปล่า ผมก็บอกว่า ไม่ครับ มันเป็นเทสต์โน้ตของช็อกโกแลตที่มีความเป็นผลไม้ ติดเปรี้ยวๆ หน่อย ลูกค้าก็บอกว่าเขากินแบบนี้ไม่ได้ แต่ตกตอนเย็นมีลูกค้าอีกคนมาบอกว่า โห อร่อยมาก ไม่คิดว่าจะหารสชาติแบบนี้ได้ที่เมืองไทย เขาชอบมากๆ ซึ่งเป็นตัวเดียวกันกับตอนบ่ายเลย มันก็เป็นคำถามที่ย้อนกลับมาหาผมว่าเราอยากจะทำสินค้าเพื่ออะไร ผมมองว่า ‘ความสุขของลูกค้า’ สำคัญมากกว่า ถ้าเขากินแล้วไม่มีความสุข ไม่ใช่ละ เราต้องหาจุดสมดุลระหว่างความเป็น specialty ของเราและความต้องการของลูกค้า คราฟต์ช็อกโกแลต specialty ของเราจะไม่สุดโต่งจนถึงขนาดไม่แคร์ความรู้สึกของคนกิน” 

กานเวลาคว้ารางวัล International Rising Star ประจำปี 2564 จาก Academy of Chocolate ซึ่งเป็นแบรนด์ช็อกโกแลตไทยแบรนด์แรกที่ได้รับรางวัลนี้ พร้อมกันนั้นยังกวาด 4 เหรียญเงินและ 4 เหรียญทองแดงจากประเภทช็อกโกแลต Tree to Bar และช็อกโกแลตใส่ไส้ได้อีกด้วย และล่าสุดก็เพิ่งได้รับรางวัลจากเวที International Chocolate Awards (Asia-Pacific) ประจำปี 2566 ถึง 3 รางวัล ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘กึ๊ดเติง’ ช็อกโกแลตนมรสแกงฮังเลที่ได้รับรางวัลเหรียญเงินนั่นเอง

“ช่วงแรกๆ ที่เราส่งช็อกโกแลตเข้าประกวดในเวทีต่างๆ แน่นอนว่าเราได้ประโยชน์ในเรื่องของการตลาด ทำให้คนรู้จักแบรนด์เราเพิ่มมากขึ้น แต่ว่าช่วงหลังๆ เราใช้เวทีประกวดในการเทสต์ เวลาเราทดลองออกสินค้ารสชาติใหม่ เรารู้ว่าผู้บริโภคชาวไทยน่าจะชอบมากๆ แต่เราก็อยากจะรู้ด้วยว่าในมุมของกรรมการเขาคิดเห็นยังไง หรือบางครั้งเป็นรสชาติที่สเปเชียลจ๋าๆ จนคนทั่วไปอาจจะไม่คุ้นชิน เราก็ใช้ประโยชน์ตรงนี้จากเวทีประกวด เพื่อมาดูว่าฟีดแบ็กจากผู้บริโภคและฟีดแบ็กจากกลุ่มผู้ตัดสินจะมาเจอกันตรงไหนได้บ้าง มันก็เป็นวิธีการหนึ่งในการพัฒนาสินค้าของเราให้ไปข้างหน้า และตอบโจทย์ทั้งความสุขของลูกค้าและได้รับคอมเมนต์ที่ดีจากกรรมการเวทีประกวด” 


IIIi - การสร้างคนทำช็อกโกแลตหน้าใหม่สำคัญต่อความยั่งยืนของวงการคราฟต์ช็อกโกแลตไทย

“ผมมองว่าคนไทยเริ่มเข้าใจคราฟต์ช็อกโกแลตมากขึ้นเยอะกว่าช่วงแรกๆ ที่ผมเปิดร้าน และหลังจากนี้จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นในอัตราเร่ง และเมื่อคนทำคราฟต์ช็อกโกแลตไทยสามารถสร้างสรรค์สินค้าให้มีคุณภาพดีๆ เยอะๆ ได้ ผู้บริโภค รวมไปถึงผู้ค้ารายย่อย และหน่วยงานธุรกิจเอกชนอย่างโรงแรมหรือร้านอาหารต่างๆ ก็พร้อมที่จะเปิดใจ ให้โอกาส และหันมาอุดหนุนช็อกโกแลตไทยกันมากขึ้น”

เนื่องจากคราฟต์ช็อกโกแลตไม่ได้มีกำลังการผลิตในสเกลอุตสาหกรรม ดังนั้นในแต่ละรอบการผลิตเลยอาจมีความแปรปรวนอยู่บ้าง โจทย์หลักของคนทำคราฟต์ช็อกโกแลตจึงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการควบคุม ‘ความนิ่งของคุณภาพ’ ให้เกิดความแปรปรวนน้อยที่สุด 

“กานเวลาได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตทั้ง GHP (Good Hygiene Practice) และ HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) มาตรฐานเหล่านี้คือการแสดงความรับผิดชอบต่อลูกค้าว่าสินค้าที่ส่งออกจากเราไปถึงผู้บริโภคมีคุณภาพ” 


นอกจากมาตรฐานการผลิต รวมถึงคุณภาพและรสชาติที่คงที่ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ว ธนามองว่าอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่วงการคราฟต์ช็อกโกแลตไทยก็คือ ‘การสร้างคนทำช็อกโกแลต’ ให้มากยิ่งขึ้น

“เราเข้าไปร่วมมือกับหน่วยงานและสถานศึกษาหลายๆ แห่งในการช่วยสร้างคนทำช็อกโกแลต เช่น การจัดเวิร์กช็อปให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาลำปาง ที่กำลังจะจบการศึกษามาเป็นเชฟ และการเข้าไปร่วมงานกับคณะอุตสาหกรรมการเกษตร สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อร่างหลักสูตร ‘Chocolate Processing Technology’ สำหรับเรียนหนึ่งภาคการศึกษา ให้นักศึกษาปี 3 หรือปี 4 ได้เลือกเรียน

“ตอนที่ผมเริ่มทำช็อกโกแลต ผมสั่งตำราเรียนของหลักสูตร Chocolate Science and Technology จากต่างประเทศมานั่งอ่านเอง ด้วยผมมีพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์การอาหารจากตอนปริญญาตรี มันเลยเหมือนผมได้เรียนวิชาหนึ่งเพิ่มโดยที่ไม่มีครู แต่อ่านจากตำราและลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เราเห็นความยากลำบากตรงนี้ และเห็นว่าถ้าในอนาคต วงการช็อกโกแลตไทยขยายตัวมากขึ้นแต่ไม่มีคนทำงานเฉพาะทางด้านนี้เลย มันจะไม่ยั่งยืน หลักสูตรนี้ก็จะช่วยให้นักศึกษาได้รู้โครงสร้างทั้งหมดของช็อกโกแลต เมื่อจบมหาวิทยาลัยไปแล้ว พวกเขาก็จะมีความรู้ไปทำงานเป็นกำลังสำคัญเพื่อขับเคลื่อนวงการให้เดินหน้าไปได้”


ธนามองว่าเมื่อตลาดช็อกโกแลตไทยใหญ่ขึ้น และผู้บริโภครวมถึงภาคธุรกิจต่างๆ ในประเทศพร้อมใจกันมาสนับสนุนช็อกโกแลตไทยมากขึ้น กานเวลาและแบรนด์ช็อกโกแลตไทยอื่นๆ อีกเพียง 4-5 แบรนด์ไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้

“การมีเพียง 4-5 แบรนด์ในตลาดมันขับเคลื่อนไปไหนต่อไม่ได้ เราต้องมีแบรนด์หน้าใหม่อื่นๆ ที่มีความสามารถมาช่วยกันทำให้มันสร้างสรรค์ ไม่งั้นทั้งวงการมันจะพัง ถ้าเราไม่สามารถสร้างผู้ผลิตช็อกโกแลตหน้าใหม่เพิ่มขึ้นได้ สุดท้ายผู้บริโภคเขาก็จะกลับไปใช้ช็อกโกแลตเมืองนอกเหมือนเดิม”




“ผมตั้งใจให้ ‘กานเวลา’ เป็นแบรนด์ช็อกโกแลตของคนไทย ต้องการให้คนไทยได้กินช็อกโกแลตที่ดีในราคาที่จับต้องได้”

ธนา คุณารักษ์วงศ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ‘กานเวลา’ (KanVela) อธิบายถึงจุดประสงค์ของการสร้างแบรนด์คราฟต์ช็อกโกแลตนี้ขึ้นมา ซึ่งช่วยไขข้อสงสัยในคำถามของเราที่ว่าทำไมแบรนด์ถึงขยายสาขาจากต้นกำเนิดในเชียงใหม่สู่เมืองหลวงของประเทศอย่างกรุงเทพมหานคร 

“เพราะฉะนั้นเราไม่ได้โฟกัสเฉพาะคนเชียงใหม่เพียงอย่างเดียว แต่เวลาที่คนไทยนึกถึงช็อกโกแลต เราอยากให้กานเวลาเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่พวกเขานึกถึง เราอยากจะทำคุณภาพสินค้าของเราให้ไปถึงจุดนั้นให้ได้ เพียงแต่ว่าพื้นเพของเราอยู่ที่เชียงใหม่ เราเลยเริ่มต้นที่เชียงใหม่แค่นั้นเอง”


กานเวลาเริ่มต้นจากการปลูกต้นโกโก้บริเวณริมรั้วบ้านของธนาและขยายต่อยอดเป็นสวนโกโก้ขนาดใหญ่จำนวนหลายพันต้นที่เชียงใหม่ จากนั้นก็มาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต ที่ใช้วัตถุดิบจากต้นโกโก้ทั้งในสวนของกานเวลาเองและจากกลุ่มเกษตรกรที่ส่งผลผลิตมาให้ และพัฒนาจนได้รสชาติเป็นเอกลักษณ์และมีคุณภาพมาตรฐานระดับนานาชาติ

แล้วทำไมกานเวลาถึงมาเปิดที่กรุงเทพฯ หลักๆ เลยคือมีกระแสจากกรุงเทพฯ สอบถามกันมาเยอะมากว่าเมื่อไรจะมาเปิดสาขา ซึ่งเมื่อดูสัดส่วนของลูกค้าในสาขาเชียงใหม่แล้ว ก็พบว่าประมาณ 40-50% เป็นคนต่างจังหวัด โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ถือว่าเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งเลย ซึ่งมักจะสั่งทางออนไลน์ แต่เนื่องจากสินค้าช็อกโกแลตต้องส่งแบบแช่เย็นเพื่อควบคุมอุณหภูมิ โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 200 กว่าบาท ลูกค้ากรุงเทพฯ บางคนเขาก็เสียดายค่าขนส่งนี้ เราเลยมองว่าถ้าวันหนึ่งมีความพร้อมมากขึ้น เราก็อยากจะเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ เพื่อใกล้ชิดกับลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น และก็สอดคล้องกับจุดประสงค์ตั้งต้นของเราที่อยากทำช็อกโกแลตให้เข้าถึงคนไทยทุกคนให้มากที่สุด การเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเติมเต็มความฝันของเราตั้งแต่เริ่มแบรนด์ได้” 


ในระหว่างนั้น กานเวลาก็ได้รับการติดต่อจากเจ้าของพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ มากมาย ธนาจึงนำข้อมูลของหลายๆ แห่งมาเปรียบเทียบกัน และในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นสาขาแรกของตัวเองในกรุงเทพฯ เพราะเคยมีประสบการณ์การออกงานแสดงสินค้าในพื้นที่แห่งนี้ อีกทั้งหลังรีโนเวตเสร็จแล้วก็มีความทันสมัยมากขึ้น แถมยังเดินทางสะดวกเพราะตั้งอยู่ใจกลางเมือง ซึ่งไปด้วยกันได้ดีกับคอนเซปต์ของกานเวลาที่ต้องการเป็นแบรนด์ช็อกโกแลตคุณภาพดีที่เข้าถึงได้ง่าย

“เราเลือกที่นี่เป็นที่แรกและก็ยังเป็นที่เดียวอยู่ตอนนี้เพราะเราอยากศึกษาดูก่อนว่าการบริหารจัดการ การผลิตสินค้า และการขนส่งสินค้า ที่มีต้นทางจากครัวกลางอยู่ที่เชียงใหม่มันโอเคไหม จะส่งผลกระทบใดๆ ต่อคุณภาพสินค้าในพื้นที่ปลายทางอย่างกรุงเทพฯ หรือไม่ นี่คือโจทย์หลักเลยตั้งแต่เปิดร้านมาประมาณ 2 เดือนกว่าๆ เพื่อดูว่ามีอะไรต้องปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาบ้าง”


ตลอด 2 เดือนกว่าๆ ในการ ‘Soft Opening’ ของสาขาในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีลูกค้าประจำของร้านหลายคนแวะเวียนเข้ามาทักทายและแสดงความดีใจที่ร้านช็อกโกแลตร้านโปรดที่เชียงใหม่มาเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ เสียที ในขณะเดียวกัน กานเวลาก็ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายด้วยเช่นกัน ตั้งแต่การขนส่งสินค้าบางชนิดที่ค่อนข้างเปราะบางจากเชียงใหม่มายังกรุงเทพฯ ซึ่งเกิดความเสียหายจนไม่สามารถวางจำหน่ายได้ ทำให้ทางแบรนด์ต้องปรับปรุงแพ็กเกจจิ้งให้มีความทนทาน เอื้อต่อการขนส่งมากกว่าเดิม ไปจนถึงการเซ็ตระบบของทีมพนักงานหน้าร้านที่กรุงเทพฯ ให้เข้าใจถึงตัวผลิตภัณฑ์และวิธีการทำของแต่ละชนิด รวมถึงวัฒนธรรมองค์กรของกานเวลาว่ามีวิธีการทำงานและมุมมองในการนำเสนอสินค้าสู่ลูกค้าแบบใด

“ก่อนเปิดร้าน เราให้ทีมที่กรุงเทพฯ เข้าไปเทรนที่สาขาเชียงใหม่ก่อนหนึ่งอาทิตย์ และในช่วงที่เปิดร้านใหม่ๆ เราก็ส่งพนักงานจากเชียงใหม่เข้ามาช่วยคุมมาตรฐานต่างๆ ในเบื้องต้นด้วย แน่นอนว่า 2 เดือนแรกในกรุงเทพฯ ยังไม่ราบรื่นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราก็พยายามทำทุกอย่างให้ไร้ที่ติมากที่สุด และเป็นช่วงเวลาของการเก็บข้อมูล เพื่อที่จะได้นำฟีดแบ็กที่ได้รับไปพัฒนาต่อให้ดียิ่งขึ้น”



IIIi - ความภูมิใจและคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรและพนักงานร้านคือนิยามความยั่งยืนของกานเวลา

“ในภาพรวมเราพยายามทำทุกอย่างภายใต้ ‘ความยั่งยืน’ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละพาร์ต ถ้าเป็นในมุมของพนักงาน ผมอยากให้ทุกคนที่มาอยู่กับกานเวลามี ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’”

คุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงานร้านในมุมมองของธนานั้น แน่นอนว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องรายได้ ซึ่งหมายรวมถึงความก้าวหน้าและความมั่นคงทางอาชีพ อันนำไปสู่ความสุขสบายในอนาคตนั่นเอง อีกทั้งบรรยากาศในการทำงานและวัฒนธรรมขององค์กรก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน

“เราพยายามให้พนักงานมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ทั้งเรื่องการแสดงความคิดเห็นและการเสนอแนะไอเดียต่างๆ ผมอาจจะเป็นผู้ก่อตั้ง แต่ไม่ใช่ว่าทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับผม กานเวลาไม่ใช่องค์กรที่เป็น One Man Show เราเปิดรับฟังทุกอย่าง ใครที่เห็นว่าอะไรที่ไม่ดีและพัฒนาได้ สามารถแจ้งได้เลย เราพยายามให้พนักงานทุกคนทำงานด้วยความสบายใจ เพื่อที่ว่าเขาจะได้ส่งมอบบริการที่ดีให้แก่ลูกค้าได้”


นอกจากนี้กานเวลายังให้ ‘โอกาส’ แก่พนักงานทุกคนตามความสามารถที่มี 

“ผมเชื่อว่าชีวิตของทุกคนยังเต็มไปด้วยการเรียนรู้ แม้จะเรียนจบปริญญาแล้วก็ตาม เพราะฉะนั้นหากมีความสนใจ มีความตั้งใจ พนักงานทุกคนก็สามารถพัฒนาตัวเองได้ เพราะฉะนั้นเราจึงให้โอกาสคน ก่อนจะไปรับคนจากข้างนอก เราจะให้โอกาสคนข้างในของเราเองก่อน แทบจะทุกตำแหน่งเลย บางคนเป็นพนักงานบริการหน้าร้าน ทำเครื่องดื่ม แต่เขาเก่งเรื่องกราฟิกดีไซน์มากเลย ถึงเวลาที่เราอยากจะสร้างทีมกราฟิกเพิ่ม เราก็จะถามเขาก่อนว่าอยากจะปรับบทบาทมาทำตรงนี้ไหม ถ้าเขาอยากทำ เราก็ให้เขาย้ายตำแหน่งมาทำ ผมว่าอย่างนี้มันสนุก เพราะพนักงานทุกคนจะรู้เลยว่าขอแค่มีความสามารถ มีความตั้งใจ มีทัศนคติที่ดี เราก็พร้อมที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้เขาไปให้สุดเท่าที่เขาจะไปได้

“ตอนเปิดร้านใหม่ๆ เราแทบไม่ได้ทำมาร์เก็ตติ้งอะไรเลย อาศัยว่ามีสื่อที่เขาเห็นและชื่นชอบโมเดลการทำธุรกิจของเรามาสัมภาษณ์และกระจายเรื่องของเราออกไปในวงกว้าง ทำให้คนรู้จักและเวลาไปเชียงใหม่ก็แวะไปที่ร้านเรา ผมว่ามันเป็นสังคมของการเอื้อเฟื้อกัน กานเวลาได้โอกาสจากสื่อ จากลูกค้า จากคนไทย เราก็ส่งต่อโอกาสเหล่านี้ให้กับพนักงานของเราด้วย” 

ส่วนความยั่งยืนในพาร์ตเกษตรกรที่ส่งวัตถุดิบให้กานเวลานั้นหมายถึงเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่แบบ ‘มีความสุขและมั่นคง’ 

“ผมเริ่มต้นแบรนด์กานเวลาจากการปลูกโกโก้เองดูก่อน เราถึงรู้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายทุกๆ อย่างว่ามีอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นเราคำนวณแล้วว่าหากตั้งราคาช็อกโกแลตเท่านี้ เกษตรกรจะอยู่ได้แบบสุขสบายใจ ไม่เดือดร้อน นำไปสู่การส่งมอบวัตถุดิบที่ดีมาให้กานเวลาได้ แค่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ ในมุมมองของผมมันไม่เพียงพอ เพราะมันคือการอยู่แบบไม่มั่นคง เกษตรกรต้องอยู่ได้อย่างมีความสุขและมั่นคง”


จากการบอกเล่าของธนา เคยมีงานวิจัยระบุว่าสมมติว่าช็อกโกแลตหนึ่งแท่งราคา 100 บาท เกษตรกรจะได้รับส่วนแบ่ง 3 บาท หรือ 3% ของราคาช็อกโกแลตนั่นเอง แต่ด้วยกานเวลาทำทุกอย่างครบวงจรด้วยตัวเองนับตั้งแต่ขั้นตอนการสรรหาวัตถุดิบและการผลิตไปจนถึงมือของผู้บริโภค ทางแบรนด์จึงมองว่าสามารถเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ของเกษตรกรได้ถึง 10% ต่อราคาช็อกโกแลตหนึ่งแท่ง 

“นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องซื้อวัตถุดิบตรงจากเกษตรกร และทำไมเราถึงต้องเข้าไปช่วยพวกเขาพัฒนาผลผลิตแล้วรับซื้อในราคายุติธรรม” 

กานเวลาร่วมงานกับเกษตรกรทั้งในภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ รวมไปถึงเกษตรกรในหมู่บ้านคลองลอย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นที่มาของหนึ่งในผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตอย่าง ‘ช็อกโกแลตบาร์แบบวีแกน ดาร์ก 72% คลองลอยออริจิ้น’ ที่ได้รับการคัดเลือกให้ขึ้นไปเสิร์ฟบนชั้นธุรกิจของการบินไทย เกษตรกรเหล่านี้ส่วนใหญ่ปลูกต้นโกโก้และมีศักยภาพพร้อมอยู่แล้ว กานเวลาจะเข้าไปช่วยในเรื่องการให้ความรู้ในการแปรรูปวัตถุดิบขั้นต้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต

“เราเข้าไปสอนให้เขาทำเป็น เพราะถ้าเขาขายผลโกโก้สด เราให้เขาได้แค่กิโลละ 8 บาท 10 บาท แต่ว่าถ้าเขาแปรรูปได้ ทำเป็นเม็ดโกโก้แห้งได้ ใช้เวลาอีกแค่ 2 อาทิตย์ มูลค่าผลผลิตของเขาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเลย ซึ่งนี่ก็จะนำไปสู่คุณภาพชีวิตของเขาและครอบครัวที่ดีขึ้นด้วย”


ความรู้ที่กานเวลาเข้าไปสอนกลุ่มเกษตรกรก็คือ ‘ขั้นตอนการหมัก’ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อรสชาติของช็อกโกแลต คราฟต์ช็อกโกแลตของกานเวลามีความเข้มข้นของช็อกโกแลตในเปอร์เซ็นต์ที่สูง ไม่ใส่วานิลลาและไม่มีการปรุงแต่งใดๆ รสชาติจะถูกดึงออกมาจากวัตถุดิบล้วนๆ เพราะฉะนั้นวัตถุดิบที่นำมาใช้ต้องมีคุณภาพดี ขมน้อย ฝาดน้อย และขึ้นอยู่กับขั้นตอนการหมัก โดยการหมักในฤดูร้อนและฤดูหนาวที่มีสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศต่างกันย่อมส่งผลต่อรสชาติที่ไม่เหมือนกันด้วย จากนั้นก็จะเป็น ‘การตากแห้ง’ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องกัน

“เกษตรกรจะต้องใช้เวลาเรียนรู้จนครบ 1 ปีถึงจะเข้าใจกลไกทั้งหมดเพื่อนำไปออกแบบเป็นวิธีการเฉพาะของตัวเองได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงต้องคัดเกษตรกรที่จะมาร่วมงานกับเราอย่างจริงจัง เราไม่เคยหวงสูตรในการทำขั้นตอนเหล่านี้ แต่เราอยากได้คนที่มีความตั้งใจ เพราะตัวผมเองและตัวทีมงานหลงใหลในสิ่งที่ทำและอยากจะทำให้ดีขึ้นในทุกๆ วัน ดังนั้นคนที่จะมาทำงานกับเราต้องเป็นคนแบบเดียวกัน ถ้าเขาตั้งใจ รักในสิ่งที่กำลังทำ เราก็พร้อมสนับสนุนและช่วยดูแลกันเหมือนคนในครอบครัว”

นอกจากการให้ความรู้ในการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบที่ช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว กานเวลายังช่วยสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองให้แก่พวกเขาอีกด้วย

“เราไม่เคยปิดบังแหล่งวัตถุดิบของเรา เพราะผมมองว่านี่คือความภาคภูมิใจของชาวบ้านและเกษตรกร วันที่เราถ่ายพรีเซนเทชันกับการบินไทยเพื่อโปรโมตช็อกโกแลตของเราที่นำขึ้นไปเสิร์ฟบนชั้นธุรกิจและเฟิร์สคลาส ชาวบ้านคลองลอยเขามากันทั้งหมู่บ้านและบอกว่าดีใจมากๆ ไม่เคยคิดเลยว่าสิ่งที่เขาทำจะมีคุณค่า ซึ่งถ้ากานเวลาปิดบังแหล่งวัตถุดิบ กานเวลาไม่สนับสนุนให้เกษตรกรมีความภาคภูมิใจ พวกเขาก็จะไม่ได้รับโอกาสแบบนี้ ในทางกลับกัน พอเกษตรกรภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ พวกเขาก็จะยิ่งอยากทำของดีๆ ออกมาเรื่อยๆ”


แม้คุณภาพชีวิตที่ดีและความภาคภูมิใจของเกษตรกร รวมไปถึงพนักงานร้านจะเป็นสิ่งที่กานเวลาให้ความสำคัญและเป็นมาตรฐานหลักในการทำงานเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในนิยามของตัวเอง กระนั้นธนาก็ยอมรับว่าสิ่งนี้ต้องดำเนินไปพร้อมผลกำไรด้วยเช่นกัน

“ถ้าเราไม่มี profit เราก็ไม่สามารถสนับสนุนทุกคนได้ในระยะยาว อีกหนึ่งสาเหตุที่กานเวลาขยายเข้ากรุงเทพฯ นอกจากเหตุผลที่บอกไปตอนต้นแล้ว ก็คือมีคนติดต่อมาให้เราช่วยซื้อวัตถุดิบ เพราะฉะนั้นถ้าเราขยายตลาด เพิ่มฐานลูกค้าได้ เราก็จะสามารถช่วยซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรได้มากขึ้น”


IIIi - รสชาติช็อกโกแลตที่คำนึงถึงความสุขของลูกค้าทุกกลุ่ม

สินค้าของกานเวลามีหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นช็อกโกแลตบาร์ที่มีให้เลือกกว่า 10 รสชาติ ครอบคลุมตั้งแต่ดาร์กช็อกโกแลต เช่น ‘กานเวลา ไทยแลนด์ ออริจิ้น’ จากต้นโกโก้ที่ปลูกที่เชียงใหม่และประจวบคีรีขันธ์ ‘กานเวลา เชียงใหม่ ออริจิ้น’ จากต้นโกโก้ที่ปลูกที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และ ‘กานเวลา คลองลอย ออริจิ้น’ จากต้นโกโก้ที่ปลูกที่หมู่บ้านคลองลอยดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ไปจนถึงช็อกโกแลตนมและไวต์ช็อกโกแลต เช่น ‘กานเวลา สตรอว์เบอร์รี่ ไวต์ช็อกโกแลต’ และ ‘กานเวลา มอคค่าผสมข้าวพอง’ และคอลเลกชันพิเศษอย่าง ‘Northern Thai Series’ ที่ได้แรงบันดาลใจจากอาหารพื้นเมืองภาคเหนือ เช่น ข้าวซอยและแกงฮังเล อีกทั้งยังมี Bon Bon หรือช็อกโกแลตใส่ไส้ Couverture หรือเนื้อช็อกโกแลตที่ได้จากการบดปั่นเม็ดโกโก้ Cacao Powder หรือโกโก้ผง รวมถึงเครื่องดื่มช็อกโกแลตชนิดต่างๆ และไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟที่ขายหน้าร้านอีกด้วย

“ผมว่าสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ‘ความทรงจำ’ เพราะฉะนั้นเราเลยพยายามสร้างความทรงจำที่ดีให้เกิดขึ้นกับตัวสินค้า โอเค เราไม่สามารถทำสินค้าให้ถูกใจลูกค้าทุกคนได้ แต่อย่างน้อยสัก 7 คนจาก 10 คน เราก็แฮปปี้ละ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะพอใจอยู่แค่นั้น เราพยายามเพิ่มให้เป็น 8 เป็น 9 ถ้าวันหนึ่งได้ถึง 10 ก็จะดีมาก นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมไลน์สินค้าของกานเวลาถึงมีเยอะมาก อย่างน้อยลูกค้ามาที่กานเวลาแล้ว ก็มีสักอย่างที่ลูกค้ากินแล้วอร่อย ถูกใจ ซึ่งเราก็พยายามเก็บข้อมูลจากลูกค้า เพื่อออกสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม”


สำหรับธนาและกานเวลา ‘ความสุขของลูกค้า’ สำคัญกว่าการสนองอัตตาของตัวเอง

“ตอนที่เราเทสต์สูตรช็อกโกแลตของเรา เรารู้ว่ารสชาติแบบไหนคือรสชาติ speciality ของช็อกโกแลตที่พิเศษมากๆ แต่คน 10 คนมากิน มีแค่ 2 คนที่ชอบแบบนี้ แต่อีก 8 คนไม่ชอบ เปิดร้านวันแรกช่วงบ่ายมีลูกค้าเรียกผมไปถามว่าช็อกโกแลตร้อนนี้นมบูดหรือเปล่า ผมก็บอกว่า ไม่ครับ มันเป็นเทสต์โน้ตของช็อกโกแลตที่มีความเป็นผลไม้ ติดเปรี้ยวๆ หน่อย ลูกค้าก็บอกว่าเขากินแบบนี้ไม่ได้ แต่ตกตอนเย็นมีลูกค้าอีกคนมาบอกว่า โห อร่อยมาก ไม่คิดว่าจะหารสชาติแบบนี้ได้ที่เมืองไทย เขาชอบมากๆ ซึ่งเป็นตัวเดียวกันกับตอนบ่ายเลย มันก็เป็นคำถามที่ย้อนกลับมาหาผมว่าเราอยากจะทำสินค้าเพื่ออะไร ผมมองว่า ‘ความสุขของลูกค้า’ สำคัญมากกว่า ถ้าเขากินแล้วไม่มีความสุข ไม่ใช่ละ เราต้องหาจุดสมดุลระหว่างความเป็น specialty ของเราและความต้องการของลูกค้า คราฟต์ช็อกโกแลต specialty ของเราจะไม่สุดโต่งจนถึงขนาดไม่แคร์ความรู้สึกของคนกิน” 

กานเวลาคว้ารางวัล International Rising Star ประจำปี 2564 จาก Academy of Chocolate ซึ่งเป็นแบรนด์ช็อกโกแลตไทยแบรนด์แรกที่ได้รับรางวัลนี้ พร้อมกันนั้นยังกวาด 4 เหรียญเงินและ 4 เหรียญทองแดงจากประเภทช็อกโกแลต Tree to Bar และช็อกโกแลตใส่ไส้ได้อีกด้วย และล่าสุดก็เพิ่งได้รับรางวัลจากเวที International Chocolate Awards (Asia-Pacific) ประจำปี 2566 ถึง 3 รางวัล ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘กึ๊ดเติง’ ช็อกโกแลตนมรสแกงฮังเลที่ได้รับรางวัลเหรียญเงินนั่นเอง

“ช่วงแรกๆ ที่เราส่งช็อกโกแลตเข้าประกวดในเวทีต่างๆ แน่นอนว่าเราได้ประโยชน์ในเรื่องของการตลาด ทำให้คนรู้จักแบรนด์เราเพิ่มมากขึ้น แต่ว่าช่วงหลังๆ เราใช้เวทีประกวดในการเทสต์ เวลาเราทดลองออกสินค้ารสชาติใหม่ เรารู้ว่าผู้บริโภคชาวไทยน่าจะชอบมากๆ แต่เราก็อยากจะรู้ด้วยว่าในมุมของกรรมการเขาคิดเห็นยังไง หรือบางครั้งเป็นรสชาติที่สเปเชียลจ๋าๆ จนคนทั่วไปอาจจะไม่คุ้นชิน เราก็ใช้ประโยชน์ตรงนี้จากเวทีประกวด เพื่อมาดูว่าฟีดแบ็กจากผู้บริโภคและฟีดแบ็กจากกลุ่มผู้ตัดสินจะมาเจอกันตรงไหนได้บ้าง มันก็เป็นวิธีการหนึ่งในการพัฒนาสินค้าของเราให้ไปข้างหน้า และตอบโจทย์ทั้งความสุขของลูกค้าและได้รับคอมเมนต์ที่ดีจากกรรมการเวทีประกวด” 


IIIi - การสร้างคนทำช็อกโกแลตหน้าใหม่สำคัญต่อความยั่งยืนของวงการคราฟต์ช็อกโกแลตไทย

“ผมมองว่าคนไทยเริ่มเข้าใจคราฟต์ช็อกโกแลตมากขึ้นเยอะกว่าช่วงแรกๆ ที่ผมเปิดร้าน และหลังจากนี้จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นในอัตราเร่ง และเมื่อคนทำคราฟต์ช็อกโกแลตไทยสามารถสร้างสรรค์สินค้าให้มีคุณภาพดีๆ เยอะๆ ได้ ผู้บริโภค รวมไปถึงผู้ค้ารายย่อย และหน่วยงานธุรกิจเอกชนอย่างโรงแรมหรือร้านอาหารต่างๆ ก็พร้อมที่จะเปิดใจ ให้โอกาส และหันมาอุดหนุนช็อกโกแลตไทยกันมากขึ้น”

เนื่องจากคราฟต์ช็อกโกแลตไม่ได้มีกำลังการผลิตในสเกลอุตสาหกรรม ดังนั้นในแต่ละรอบการผลิตเลยอาจมีความแปรปรวนอยู่บ้าง โจทย์หลักของคนทำคราฟต์ช็อกโกแลตจึงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการควบคุม ‘ความนิ่งของคุณภาพ’ ให้เกิดความแปรปรวนน้อยที่สุด 

“กานเวลาได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตทั้ง GHP (Good Hygiene Practice) และ HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) มาตรฐานเหล่านี้คือการแสดงความรับผิดชอบต่อลูกค้าว่าสินค้าที่ส่งออกจากเราไปถึงผู้บริโภคมีคุณภาพ” 


นอกจากมาตรฐานการผลิต รวมถึงคุณภาพและรสชาติที่คงที่ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ว ธนามองว่าอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่วงการคราฟต์ช็อกโกแลตไทยก็คือ ‘การสร้างคนทำช็อกโกแลต’ ให้มากยิ่งขึ้น

“เราเข้าไปร่วมมือกับหน่วยงานและสถานศึกษาหลายๆ แห่งในการช่วยสร้างคนทำช็อกโกแลต เช่น การจัดเวิร์กช็อปให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาลำปาง ที่กำลังจะจบการศึกษามาเป็นเชฟ และการเข้าไปร่วมงานกับคณะอุตสาหกรรมการเกษตร สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อร่างหลักสูตร ‘Chocolate Processing Technology’ สำหรับเรียนหนึ่งภาคการศึกษา ให้นักศึกษาปี 3 หรือปี 4 ได้เลือกเรียน

“ตอนที่ผมเริ่มทำช็อกโกแลต ผมสั่งตำราเรียนของหลักสูตร Chocolate Science and Technology จากต่างประเทศมานั่งอ่านเอง ด้วยผมมีพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์การอาหารจากตอนปริญญาตรี มันเลยเหมือนผมได้เรียนวิชาหนึ่งเพิ่มโดยที่ไม่มีครู แต่อ่านจากตำราและลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เราเห็นความยากลำบากตรงนี้ และเห็นว่าถ้าในอนาคต วงการช็อกโกแลตไทยขยายตัวมากขึ้นแต่ไม่มีคนทำงานเฉพาะทางด้านนี้เลย มันจะไม่ยั่งยืน หลักสูตรนี้ก็จะช่วยให้นักศึกษาได้รู้โครงสร้างทั้งหมดของช็อกโกแลต เมื่อจบมหาวิทยาลัยไปแล้ว พวกเขาก็จะมีความรู้ไปทำงานเป็นกำลังสำคัญเพื่อขับเคลื่อนวงการให้เดินหน้าไปได้”


ธนามองว่าเมื่อตลาดช็อกโกแลตไทยใหญ่ขึ้น และผู้บริโภครวมถึงภาคธุรกิจต่างๆ ในประเทศพร้อมใจกันมาสนับสนุนช็อกโกแลตไทยมากขึ้น กานเวลาและแบรนด์ช็อกโกแลตไทยอื่นๆ อีกเพียง 4-5 แบรนด์ไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้

“การมีเพียง 4-5 แบรนด์ในตลาดมันขับเคลื่อนไปไหนต่อไม่ได้ เราต้องมีแบรนด์หน้าใหม่อื่นๆ ที่มีความสามารถมาช่วยกันทำให้มันสร้างสรรค์ ไม่งั้นทั้งวงการมันจะพัง ถ้าเราไม่สามารถสร้างผู้ผลิตช็อกโกแลตหน้าใหม่เพิ่มขึ้นได้ สุดท้ายผู้บริโภคเขาก็จะกลับไปใช้ช็อกโกแลตเมืองนอกเหมือนเดิม”




Text:

Witthawat P.

Witthawat P.

PHOTO:

Krit P.

Krit P.

Related Posts