กอล์ฟ ธัญญ์วาริน กับทรรศนะต่อการเดินทางของซีรีส์วายไทย และ Soft Power

กอล์ฟ ธัญญ์วาริน กับทรรศนะต่อการเดินทางของซีรีส์วายไทย และ Soft Power

29 ธ.ค. 2566

SHARE WITH:

29 ธ.ค. 2566

29 ธ.ค. 2566

SHARE WITH:

SHARE WITH:

กอล์ฟ ธัญญ์วาริน กับทรรศนะต่อการเดินทางของซีรีส์วายไทย และ Soft Power

เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลายคนตื่นเต้นกับการเปิดตัวของซีรีส์วายไทยเรื่อง ‘Cherry Magic 30 ยังซิง’ ที่สร้างจากมังงะญี่ปุ่นเรื่อง Cherry Magic! ว่าด้วยหนุ่มโสดซิงที่ได้รับพลังวิเศษอ่านใจคนอื่นเมื่อสัมผัสตัวได้หลังจากอายุเข้าวัย 30 นำแสดงโดย เต-ตะวัน วิหครัตน์ และ นิว-ฐิติภูมิ เตชะอภัยคุณ 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีซีรีส์วายไทยอีกหลากหลายรสชาติ ซึ่งฉายต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เช่น ‘ลางสังหรณ์’ เรื่องราวแนวแอ็กชั่นสืบสวนสอบสวนที่มีกลิ่นอายลี้ลับเหนือธรรมชาติและความรักที่ผูกพันกันแต่อดีตชาติ ‘พี่เจตคนกลาง’ เล่าชีวิตที่กำลังกลายเป็นคนพิเศษของชายผู้เป็นสื่อกลางและทางผ่านของคนอื่นมาโดยตลอด ไม่นับเรื่อง ‘หอมกลิ่นความรัก’ ซึ่งเพิ่งจบไปโดยทิ้งความรู้สึกเศร้าเคล้าความอบอุ่นใจให้แฟนๆ หลายๆ คน และ ‘การุณยฆาต’ ที่แม้ปล่อยเพียงตัวอย่างสั้นๆ ออกมา แต่การแสดงและเคมีของ ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร และ เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม ก็เอาชนะใจชาวเน็ตได้อย่างถล่มทลายและต่างตั้งตารอคอยให้ถึงวันฉายในปีหน้าโดยเร็ว 


ปฏิเสธไม่ได้ว่าความนิยมของซีรีส์วายเติบโตขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง แม้ไม่ได้เป็นสาววายหรืออยู่ในคอมมูนิตี้ LGBTQ+ หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ ก็ย่อมรับรู้ถึงกระแสดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน ด้วยทุกวันนี้มีละครและซีรีส์วายสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้ได้ชมกันผ่านช่องทีวี แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่างๆ รวมถึงยูทูบ กว่า 17 เรื่องภายในหนึ่งสัปดาห์ ส่งผลให้นักแสดงชายทั้งคู่หลักคู่รองโด่งดังจนสามารถสร้างฐานแฟนคลับของตัวเองได้ทั้งในและต่างประเทศ ต่อยอดเป็นผลงานและอีเวนต์ไปทั่วโลก ที่มาพร้อมเม็ดเงินมากมายให้แก่ตัวศิลปิน ต้นสังกัด และทีมงานเบื้องหลัง

ในแง่ของเนื้อหานั้น ก็มีทั้งที่สร้างความบันเทิงชวนจิ้นตอบโจทย์กลุ่มสาววายที่ฟินกับความรักโรแมนติกของสองชายหนุ่ม บางเรื่องราวก็ไปไกลในแง่ของการสร้างความตระหนัก ชวนฉุกคิด และชูประเด็นให้สังคมได้พูดคุยและถกเถียงกันต่อเกี่ยวกับสิทธิและวิถีชีวิตของกลุ่มชายรักชายและผู้มีความหลากหลายทางเพศกลุ่มอื่นๆ บางกลุ่มในโลกแห่งความเป็นจริง และบางส่วนยังเป็นพลังดึงดูดให้ชาวต่างชาติสนใจความเป็นไทยในแง่มุมต่างๆ มากขึ้น เช่น จุดประกายให้แฟนคลับชาวญี่ปุ่นหันมาเรียนภาษาไทย หรือสร้างแรงบันดาลใจให้แฟนคลับหลายๆ ชาติเดินทางมาตามรอยสถานที่ถ่ายทำของซีรีส์เรื่องโปรดในไทย 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้จึงทำให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเล็งเห็นถึงโอกาสที่จะผลักดันซีรีส์วายไทยให้เป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ในการส่งออกวัฒนธรรมไทยไปทั่วโลกเพื่อสร้างรายได้มูลค่ามหาศาลสู่ประเทศ เช่นเดียวกับที่เกาหลีใต้ทำผ่านวงการ K-Pop 

เราจึงชวน กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับและเขียนบทมากฝีมือมาพูดคุยกันในประเด็นนี้ เพราะเธอเองก็เป็นหนึ่งคนที่อยู่เบื้องหลังผลงานเกี่ยวกับเรื่องราวความรักและชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศมากมาย เช่น ภาพยนตร์เรื่อง It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก แมลงรักในสวนหลังบ้าน (Insects in the Backyard) คืนนั้น (Red Wine in the Dark Night) ซีรีส์วายเรื่อง คาธ (The Eclipse the Series) และอีกหนึ่งเรื่องที่เพิ่งเปิดตัวนักแสดงนำไปก็คือ The Rebound เกมนี้เพื่อนาย


IIIi - การเดินทางของ ‘วายไทย’ 

“รู้สึกเหมือนกันว่า ‘Love Sick’ เป็นซีรีส์ที่ทำให้ทุกคนเริ่มรู้จักซีรีส์วาย” 

กอล์ฟเห็นด้วยกับข้อสังเกตของเราที่ว่ากระแส ‘วายไทย’ ถูกจุดติดนับตั้งแต่ซีรีส์เรื่อง ‘Love Sick: The Series รักวุ่น วัยรุ่นแสบ’ ออกฉายในปี 2557 

ถึงอย่างนั้น เธอก็ได้ขยายความเพิ่มเติมว่า “แต่ตอนนั้นความเข้าใจของคนในสังคมคือซีรีส์วายเป็นคนละเรื่องกับ LGBTQ+ การทำซีรีส์วายไม่ได้อยู่ในร่มเดียวกับซีรีส์เกย์ ซีรีส์ LGBTQ+ ยังจำได้อยู่เลยว่ามีการถกเถียงกันในโลกโซเชียลด้วยซ้ำว่า เฮ้ย มันใช่หรือไม่ใช่” 

“แต่ตัวเราเนี่ยนั่งยิ้มแล้วนะ เพราะการมาของซีรีส์วายมันทำให้คนในสังคมได้เห็นว่าผู้ชายชอบผู้ชาย หรือคนรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าคุณจะเป็น LGBTQ+ หรือไม่ คุณจะเข้าใจ LGBTQ+ หรือเปล่า แต่คุณได้เห็นภาพเหล่านี้ไปเรื่อยๆ แล้ว”

ซีรีส์วายส่วนใหญ่กำหนดให้ตัวละครนำฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายชอบหรือเคยมีแฟนเป็นผู้หญิงมาโดยตลอด เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินมาให้ตกหลุมรักผู้ชายแล้ว ก็มักจะย้ำว่าตัวละครนั้นชอบผู้ชายคนนี้เพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่ได้ชอบผู้ชายคนอื่นหรือไม่ได้เป็นเกย์ 


“สำหรับเราที่พูดเรื่องสิทธิมนุษยชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศมาตลอด แน่นอนว่าการทำให้คนเห็นว่าผู้ชายคนหนึ่งที่ปกติชอบผู้หญิงแต่กลับมาชอบผู้ชายคนหนึ่งแค่คนเดียวเท่านั้น มันแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายแล้ว สังคมอาจจะยังไม่เข้าใจคำว่า ‘ไบเซ็กชวล’ (Bisexual) และซีรีส์วายอาจจะตอบโจทย์แค่สาววายที่อยากดูผู้ชายหน้าตาดีสองคนรักกัน แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นในการจุดกระแสสังคมและสร้างความเข้าใจในสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศไปโดยปริยายผ่านซีรีส์วายได้”

หลายคนอาจจะแย้งว่าการให้ตัวละครชายในเรื่องบอกว่าตัวเองชอบผู้ชายแค่คนนี้เพียงคนเดียวเท่านั้น แทนที่จะบอกตรงๆ ไปเลยว่าเพิ่งค้นพบรสนิยมทางเพศของตัวเองว่าก็เป็นชายรักชาย หรือเป็นเกย์ เป็นไบเซ็กชวล หรือแพนเซ็กชวล (Pansexual) ก็ไม่ได้ช่วยทำให้คนดูเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศ อีกทั้งอาจจะเป็นการเลี่ยงบาลีเพื่อจะได้ไม่ต้องยอมรับออกมาแบบเต็มปากเต็มคำว่ารสนิยมทางเพศแบบชายรักชายก็มีอยู่จริงด้วยซ้ำ 

กรณีนี้กอล์ฟมองว่าเป็นเพราะระบบการศึกษาไทยที่กดทับและไม่เคยสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ชายที่เกิดความรู้สึกเหล่านี้ในใจตัวเอง

“เราผ่านการมีความรักและการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่บอกว่าตัวเองเป็นผู้ชายแท้ๆ ซึ่งเขาอาจจะเป็นไบเซ็กชวลหรือแพนเซ็กชวลก็ได้ แต่เขาอาจจะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วมันก็มีคำเรียกแหละ และเขาก็ยังเชื่อว่าตัวเองยังเป็นชายแท้อยู่ นี่เป็นเพราะว่าระบอบการศึกษาไทยไม่ได้ทำให้เกิดการรับรู้และสร้างความเข้าใจ ต่อให้เขาชอบผู้หญิงและอยากมีครอบครัวกับผู้หญิง แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถมีเพศสัมพันธ์กับกะเทยหรือผู้ชายด้วยกันได้ เขาก็จะต้องบอกว่าตัวเองคือชายแท้ 

“หลักสูตรการศึกษาบ้านเราไม่ได้มองคนเหล่านี้เป็นคนปกติ LGBTQ+ หรือความหลากหลายทางเพศมักถูกกดทับเอาไว้ เพราะฉะนั้นคนที่เป็น หรือคนที่กำลังเริ่มรู้สึกตัวว่าเป็นแบบนี้ เขาจะกล้าเปิดตัว กล้าบอกความรู้สึกกับใครได้”

ดังนั้นซีรีส์วายจึงเป็นสื่อที่ทำหน้าที่บอกเล่าว่าผู้ชายที่มีความรู้สึกดังกล่าวก่อตัวในใจแต่ไม่กล้าพูดออกมาตรงๆ หรือไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นเพศอื่นนอกจากชายแท้ เพราะถูกกดทับด้วยบรรทัดฐานทางสังคมและระบบการศึกษามีอยู่จริง รวมถึงความหลากหลายทางเพศในรูปแบบอื่นๆ ด้วย


“แต่พอมีซีรีส์วายมากขึ้นที่ทำให้รู้ว่าคนเหล่านี้มีอยู่จริง บางคนก็จะพูดว่าจะทำให้มีเกย์มากขึ้นหรือเปล่า มี LGBTQ+ มากขึ้นหรือเปล่า” กอล์ฟยกคำถามที่ตามมาหลังซีรีส์วายเพิ่มจำนวนมากขึ้นในไทย

“เปล่าเลย เมื่อสังคมถูก Normalize ด้วยซีรีส์วายเรื่อยๆ ไม่ว่าคุณจะดูหรือไม่ จะชอบหรือไม่ แต่คุณต้องรู้จักและผ่านตา หรือเข้าใจว่านี่คือความรักของคนเพศเดียวกัน เพราะฉะนั้นเมื่อมันถูกทำให้เห็นในสังคมมากขึ้นๆ คนก็กล้าออกมาจากตู้เสื้อผ้ากันมากขึ้น กล้าบอกว่าตัวเองรู้สึกแบบไหนมากขึ้น เพราะพวกเขาเริ่มรู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องปกตินี่ ในซีรีส์วายก็มี

“ดังนั้นที่เห็นว่าเหมือนจะเพิ่มมากขึ้น แต่จริงๆ มันมีอยู่แล้ว เพราะอย่าลืมว่าก่อนหน้านี้นอกจากระบบการศึกษาจะกดทับคนเหล่านี้ไม่ให้กล้าแสดงออกแล้ว คาแรกเตอร์ของ LGBTQ+ ในสื่อภาพยนตร์หรือทีวี ก็มักจะถูกบุลลี่ เป็นตัวตลก เป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้าน แล้วคนที่รู้ตัวว่าเป็น LGBTQ+ จะกล้าเปิดตัวเหรอ พอมีซีรีส์วาย มันก็ช่วย normalize ให้เห็นว่านี่คือเรื่องปกติ คนที่เป็น LGBTQ+ ก็รู้สึกว่าตัวเองมีพวก มีเพื่อน ก็กล้าเป็นตัวของตัวเอง กล้ามีชีวิตเป็นของตัวเองได้”

ในมุมมองของกอล์ฟ ปัจจุบันซีรีส์วายไทยหลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ได้โฟกัสอยู่แค่ความรักของชายหนุ่มสองคนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เนื้อหาที่กว้างมากขึ้นก็จะยิ่งช่วยให้สังคมเห็นวิถีชีวิตของกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น และน่าจะนำไปสู่การเข้าใจและยอมรับมากยิ่งขึ้นได้

“ซีรีส์วายพูดถึงปัญหาของ LGBTQ+ กับพ่อแม่ พูดถึงการทำความเข้าใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศกับกลุ่มเพื่อนฝูง และก็พัฒนามาเป็นกลุ่ม LGBTQ+ ในแวดวงอาชีพต่างๆ และเริ่มได้เห็นตัวละครพ่อแม่ทำความเข้าใจกับกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น ได้เห็นครอบครัวของตัวละครคนรักเพศเดียวกันมีความสุขมากขึ้นในซีรีส์วาย สิ่งเหล่านี้มันสร้างภาพจำใหม่ของ LGBTQ+ ให้เกิดขึ้น ซึ่งก็จะค่อยๆ ทำให้สังคมเริ่มเปิดใจว่านี่เป็นเรื่องปกติ” 


IIIi - ความหลากหลายของซีรีส์วายกับความคาดหวังของผู้ชม

จริงๆ แล้วมีหลายๆ คนตั้งข้อสังเกตว่าซีรีส์วายไทยยังย่ำอยู่แต่กับการขายจิ้นของสองนักแสดงนำ และเซอร์วิสสาววายด้วยการเน้นฉากเลิฟซีนถึงพริกถึงขิง หรือโชว์เนื้อหนังมังสาของเหล่านักแสดงชายในเรื่อง และคาดหวังว่าควรจะมีการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่านี้ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ด้วย

“คนที่พูดว่าซีรีส์วายควรจะมีความหลากหลายมากกว่านี้ ควรจะพูดประเด็นที่มากกว่าคนสองคนรักกัน ต้องถามก่อนว่าคุณดูซีรีส์วายหรือเปล่า ทุกวันนี้หนึ่งสัปดาห์มีซีรีส์วายให้ดู 17 เรื่อง คุณรู้ไหมว่าแต่ละเรื่องเขาเล่าเรื่องอะไรอยู่ มันมีทั้งเรื่องที่พูดถึงการฝึกของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ มีเรื่องที่พูดถึงโลกคู่ขนาน ย้อนยุคไปยังอดีต มีเรื่องที่เกี่ยวกับกีฬา การแข่งรถ เนื้อหามันหลากหลายมากขึ้นแล้ว คุณอาจจะเห็นบางคัตบางซีนถูกไฮไลต์มาขายจิ้นเป็นคลิปสั้นๆ เลยคิดว่าเนื้อหามันมีแค่นั้น ซีรีส์วายมีแต่อะไรแบบนี้ แต่คุณได้ดูสตอรี่ทั้งเรื่องแล้วหรือยัง เนื้อหาของซีรีส์วายตอนนี้มันไปไกลมากแล้ว และมีความหลากหลายกว่าซีรีส์ชายหญิงด้วยซ้ำ

“แต่ถึงอย่างนั้น ต่อให้มีซีรีส์วายที่เล่าเรื่องเซ็กส์ทั้งเรื่อง ก็ไม่ผิด เพราะซีรีส์คือความบันเทิง คนทำซีรีส์ที่มีแต่เนื้อหาแบบนั้นออกมา แสดงว่ามีกลุ่มคนดูที่ต้องการรับชม และเขามีสิทธิที่จะทำออกมาทดลองตลาด ถ้าทำออกมาแล้วไม่มีคนดู ก็เลิกทำ แต่ถ้ามีคนดูและประสบความสำเร็จ ก็แปลว่ามีกลุ่มคนที่อยากดูเรื่องราวแบบนี้ เขาก็มีสิทธิที่จะทำต่อไป นอกจากนี้เรื่องเซ็กส์มันก็เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ในเมื่อซีรีส์วายเล่าชีวิตของคนคนหนึ่ง โมเมนต์ในชีวิตของเขาแน่นอนว่าก็ต้องมีทั้งเรื่องการทำงาน ความรัก และการมีเซ็กส์ เป็นเรื่องปกติ”


สำหรับกอล์ฟ การทำให้คนเข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางเพศนั้น จะคาดหวังที่การยกระดับซีรีส์วายเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเปลี่ยนที่ระบบการศึกษาและวิธีคิดของคนในสังคมควบคู่กันไปด้วย

“ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงสังคม เราต้องเปลี่ยนตั้งแต่ราก สังคมไทยยังติดอยู่กับการด้อยค่าและการบุลลี่คนที่แตกต่าง เพราะฉะนั้นเราต้องยกระดับความคิดและความเข้าใจของคนในสังคมก่อนว่าความรักของคนสองคน ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร มันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งรากฐานที่สำคัญก็คือระบบการศึกษา การหล่อหลอมให้คนในสังคมเติบโตขึ้นมาด้วยความคิดแบบไหนขึ้นอยู่กับหลักสูตรการศึกษา 

“แต่หลักสูตรการศึกษาไทยในปัจจุบันได้สร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศมากพอแล้วหรือยัง แน่นอนว่ายัง ในทางตรงกันข้าม ตัวหลักสูตรยังมีการด้อยค่า LGBTQ+ อยู่ คนที่เป็นครูบาอาจารย์เองก็ยังกดทับนักเรียนนักศึกษาในกลุ่มนี้อยู่ นักเรียนและนักศึกษาในกลุ่ม LGBTQ+ ยังต้องเรียกร้องสิทธิในการแต่งกายของตัวเองอยู่ บางสถาบันเริ่มอนุญาตแล้ว แต่อีกหลายๆ แห่งยังจำกัดกรอบและกดทับคนที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ ถ้านักเรียนในสถาบันการศึกษายังไม่สามารถเลือกในสิ่งที่ตัวเองจะเป็นได้ แล้วเราจะคาดหวังอะไรได้

“เราจะฝากความหวังไว้ที่ซีรีส์วายให้ช่วยทำให้สังคม Enlighten ต้องถามว่าเราไปคาดหวังกับซีรีส์วายมากเกินไปหรือเปล่า แน่นอนว่าการทำซีรีส์วายเดี๋ยวนี้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม แต่หน้าที่ของซีรีส์วายจริงๆ คือการให้ความบันเทิง ต่อให้เป็นหนังที่ดีที่สุด ดูจบแล้ว Enlighten คนได้กลุ่มหนึ่ง ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะเปลี่ยนสังคมได้ทั้งหมดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องแก้กันตั้งแต่รากฐาน เราต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยให้ได้ก่อน ซึ่งการจะเปลี่ยนรากฐานนี้ของสังคมได้นั้น มันต้องเปลี่ยนด้วยการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” 


IIIi - วายไทยและการเชื่อมโยงกับประเด็นสังคมโลก

“หลังจากเราออกมาจากสภาปุ๊บ เราก็ได้ทำซีรีส์เรื่อง ‘คาธ’ ให้ GMMTV ซึ่งพูดถึงเรื่องการเรียกร้องสิทธิของนักเรียนมัธยม เพื่อที่จะสะท้อนภาพใหญ่ของการเมืองไทย”

กอล์ฟเล่าประสบการณ์การกำกับซีรีส์วายครั้งแรกของตัวเองหลังบทบาทการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรได้ยุติลง 

“ถามว่ามันยากไหม แน่นอนว่ายาก หนึ่งเลย คนให้เงินทุนต้องมีความเข้าใจและเปิดกว้างที่จะให้พูดเรื่องนี้ผ่านซีรีส์วาย ซึ่งทาง GMMTV เสนอมาให้เราเอง เราก็รู้สึกว้าวมากเลย คือเขาอยากทำซีรีส์วายที่มีเนื้อหาก้าวหน้ามากขึ้น พูดถึงสิทธิมากขึ้น แต่ยังต้องคงความเป็นวายอยู่ โอเค เรื่องเรียกร้องสิทธิเราถนัดอยู่แล้ว มันเป็นตัวเราอยู่แล้ว เราสามารถทำได้เต็มที่ แต่แน่นอนว่าก็จะมีโปรดิวเซอร์จากทางช่องมาช่วยปรับจูนเนื้อเรื่องให้ยังคงกลิ่นอายวายอยู่ มันใหม่สำหรับเรามากๆ และเป็นการเรียนรู้ของเรามากๆ ที่จะเอาความเป็นวายกับการเรียกร้องสิทธิมาเจอกันตรงกลางจนเกิดความกลมกล่อมให้ได้มากที่สุด”

กอล์ฟตั้งใจกับซีรีส์วายเรื่องแรกของเธออย่างเต็มที่ แม้จะไม่รู้เลยว่าเหล่าสาววายหรือผู้ชมกลุ่มอื่นๆ จะตอบรับรสชาติใหม่ของซีรีส์วายที่เธอนำเสนอในทางที่ดีหรือไม่ แต่ในที่สุดความทุ่มเทอย่างหนักของเธอก็สัมฤทธิ์ผล

“พอซีรีส์เริ่มออนแอร์ ก็เกิดกระแสคุณครูวารีใส่ชุด 7 สีที่เป็นตัวละครของพี่ทราย เจริญปุระ เริ่มมีอินเตอร์แฟนที่เห็นเหตุการณ์ในซีรีส์แคปภาพไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศตัวเอง จำนวนอินเตอร์แฟนที่เพิ่มมากขึ้นก็เริ่มทำให้แฟนไทยสนใจว่าซีรีส์เรื่องนี้มันเกี่ยวกับอะไร

“จนกระทั่งซีรีส์ถึงตอนจบ บอกได้เลยว่ามันประสบความสำเร็จ มันทำให้เฟิร์ส (คณพันธ์ ปุ้ยตระกูล) และข้าวตัง (ธนวัฒน์ รัตนกิจไพศาล) สามารถมีงานแฟนมีตติ้งที่บราซิลได้ ซึ่งแฟนๆ ในประเทศนี้ก็เป็นกลุ่มแรกๆ ที่พูดถึงเรื่องคาธ และเปรียบเทียบเรื่องราวในเรื่องกับเหตุการณ์ต่างๆ ในประเทศตัวเอง ซึ่งเราตามอ่านตลอดทั้งใน IG และทวิตเตอร์ และรู้สึกว่า เฮ้ย มันไปไกลกว่าที่เราคิด มันกลายเป็น Global Issue ที่อินเตอร์แฟน รวมถึงแฟนชาวไทย สามารถมีส่วนร่วมกับซีรีส์ได้ และมันแสดงให้เห็นว่าแฟนๆ ซีรีส์วายดูเนื้อหาที่มันเข้มข้นมากขึ้นด้วย”


IIIi - ซีรีส์วายไทยกับการเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’

“ซอฟต์พาวเวอร์สำหรับเราคือกระบวนการทำให้คนชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามด้วยความสมัครใจหรือด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่เกิดจากการยัดเยียด หรือบังคับให้เขาเชื่อ หรือบังคับให้เขาอิน แต่ต้องนำเสนออย่างแนบเนียน” 

กอล์ฟให้ความหมายของคำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ในมุมมองของตัวเอง หลังเราถามความเห็นของเธอในฐานะที่เป็นคนในแวดวงซีรีส์วายไทย ซึ่งกำลังมีกระแสดังไกลในระดับโลก จนหลายภาคส่วนในบ้านเราทั้งภาครัฐและเอกชนต้องการที่จะผลักดันให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์เพื่อโปรโมตความเป็นไทยและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ 

“เวลาพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ เราจะนึกถึงเพลงเกาหลี อาหารเกาหลี ซีรีส์เกาหลี และสถานที่ท่องเที่ยวเกาหลีว่าทำไมจู่ๆ ถึงป๊อปปูลาร์ไปทั่วทั้งโลก มันเกิดจากรัฐบาลวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ มีนโยบายของรัฐที่ร่วมมือกันกับเอกชนเพื่อทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ ปรับมายด์เซ็ตเกี่ยวกับการลงทุนว่าเขากำลังลงทุนทำคอนเทนต์เพื่อขายทั่วโลก เพราะฉะนั้นมันต้องเป็นการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อให้ได้ Global Content ที่มีคุณภาพ และใส่ความเป็นเกาหลีที่ต้องการจะขายแทรกเข้าไปอย่างแนบเนียน ค่อยๆ สร้างกระบวนการที่ทำให้คนดูซึมซับสิ่งที่ต้องการเสนออย่างมีศิลปะ

กอล์ฟยกตัวอย่างฉากกินข้าวระหว่างซีรีส์เกาหลีและซีรีส์ไทย 


“ฉากกินข้าวของไทยมีไว้สร้างบทสนทนา ยังไม่ทันจะได้กินด้วยซ้ำ ก็พูดกันก่อนแล้ว เห็นได้ว่ามันเป็นแค่ ‘พร็อป’ แต่ของเกาหลี อาหารต้องเป็นสิ่งที่ตัวละครในเรื่องกินแล้วมีผลบางอย่าง ทำให้คนดูรู้สึกอยากกิน อยากลอง เช่น ซีรีส์ที่เราดู เวลาเครียดนางเอกจะกินเพื่อทำให้ตัวเองหายเครียด และมันก็มีฉากนางเอกเอาอาหารมาวางจานเบ้อเริ่ม แล้วกินจริงจังมาก กินไป พูดไป มีสตอรี่ไป ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่ามันน่าอร่อยจัง เพราะฉะนั้นกระบวนการสร้าง situation แบบนี้เพื่อทำให้คนเชื่อจึงมีความสำคัญ” 

กอล์ฟมองว่ากระบวนการที่ทำให้คนเชื่อจนเกิดการกระทำบางอย่างโดยความสมัครใจตามมาเกิดขึ้นแล้วกับซีรีส์วาย ไม่ว่าจะเป็นการอยากมาเมืองไทยเพื่อตามรอยฉากต่างๆ ที่เห็นในซีรีส์ การอยากเรียนภาษาไทย หรืออยากกินอาหารไทย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่สามารถทำหน้าที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างเต็มรูปแบบ

“ซีรีส์วายไทยพูดถึงมนุษย์ที่รักเพศเดียวกัน พูดถึงความรักความเข้าใจของคนในครอบครัวและสังคมที่มีต่อคนกลุ่มนี้ ทำให้คนได้รู้จักและเห็นมุมมองของ LGBTQ+ ในไทยเพิ่มมากขึ้น บวกกับการรับรู้ของทั่วโลกว่าประเทศเราเป็น LGBTQ+ friendly แต่มันทำให้ LGBTQ+ ทั่วโลกอยากมาอยู่เมืองไทยมากขึ้นไหม สิ่งที่ยังทำให้ไม่คอมพลีทคือไทยยังไม่มีกฎหมายที่ยอมรับว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นมนุษย์และได้สิทธิเท่ากับคนอื่น

“ดังนั้นเรามองว่าถ้า ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ผ่าน ทุกคนสามารถจดทะเบียนสมรสได้ถูกต้องตามกฎหมาย ได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่คนไทยคนหนึ่งควรจะได้จากการสมรส มันก็จะเป็นหมุดหมายสำคัญที่แสดงว่าซีรีส์วายไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำให้ทุกคนเห็นว่าประเทศนี้เปิดกว้าง คนเพศเดียวกันสามารถรักกันได้อย่างเปิดเผยและสามารถจดทะเบียนสมรสได้ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ LGBTQ+ ทั่วโลกรู้สึกว่าเมืองไทยคือ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ที่สามารถเปิดเผยตัวตนและใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย จนอยากมาเที่ยวหรืออยากมาอยู่ที่นี่เพิ่มมากขึ้น”

สิ่งที่จะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันเพื่อให้กระบวนการต่างๆ ในซีรีส์วายทำหน้าที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างสมบูรณ์แบบคือการเปลี่ยนระบบและหลักสูตรการศึกษาไทยเพื่อให้คนในประเทศเข้าใจสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สิทธิของ LGBTQ+ และให้ทุกคนเคารพทุกความแตกต่างหลากหลายอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงผลักดันให้เกิดกฎหมายสมรสเท่าเทียมเพื่อรองรับและยอมรับว่า LGBTQ+ ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งและสามารถใช้สิทธิได้ทุกอย่างเท่ากับมนุษย์คนอื่นๆ 


นอกจากนี้ต้องมี ‘กองทุน’ สนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมคอนเทนต์เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ

“มันเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐบาล โดยเขาต้องเข้าใจก่อนว่าซีรีส์วายมีเพื่ออะไรและกระบวนการของมันนำไปสู่ประโยชน์อะไรได้บ้าง จากนั้นก็ต้องตั้งกองทุนสนับสนุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างคอนเทนต์อย่างแข็งแรง คอนเทนต์มันจะโกอินเตอร์ กลายเป็น Global Content ได้ มันต้องใช้ทุน 

“สุดท้ายต้องหาตลาดมารองรับผู้ผลิต ทุกวันนี้เกิดปรากฏการณ์ที่มีซีรีส์วายให้ผู้ชมเลือกดู 10 กว่าเรื่องต่อหนึ่งอาทิตย์ แปลว่ามันเกิดการแข่งขันทางการตลาดในไทย แล้วรัฐจะส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดตลาดที่ใหญ่ขึ้นในระดับโลกได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่ต้องพิจารณา เพื่อให้ผลงานซีรีส์วายทำหน้าที่ของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด”

การมีตลาดรองรับการแข่งขันกันของบรรดาผู้ผลิตซีรีส์วายยังช่วยให้ซีรีส์วายอยู่ต่อไปได้ในระยะยาวอีกด้วย

“การแข่งขันทางการตลาด ผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับผู้บริโภค ผู้ผลิตต้องแข่งกันสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ดี เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับของที่ดี คนที่ผลิตออกมาไม่ตั้งใจ ทำออกมาไม่ดี ก็จะล้มหายตายจากไป แต่ของที่ดีและได้รับความนิยม มันก็จะยังอยู่ต่อไปได้” 


IIIi - ก้าวต่อไปของการสร้างสรรค์ซีรีส์วายและขับเคลื่อน LGBTQ+

สำหรับกอล์ฟที่มีจุดยืนในการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศมาโดยตลอด เธอมองว่าประเด็นนี้เดินทางมาไกลและก้าวหน้าขึ้นมากจากวันแรกที่เธอเริ่มต้นลงมือทำ

“บางคนอาจจะรู้สึกว่ามันต้องใช้เวลา 40-50 ปี แต่นับตั้งแต่หนังเรื่อง Insect in the Backyard ของเราโดนแบนจนถึงตอนนี้ มันผ่านมาแค่ 10 กว่าปีเอง แต่การเปลี่ยนแปลงของสังคมในการเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศมันเพิ่มขึ้นมากจนเรารู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จ เราทำให้คนตระหนักรู้เรื่องสมรสเท่าเทียม เราทำให้ซีรีส์วายสามารถพูดถึงเรื่องการต่อสู้ การประท้วงเรียกร้องสิทธิ เราว่าเราประสบความสำเร็จในการสร้างแรงกระเพื่อมในสังคม”

ถึงอย่างนั้นกอล์ฟยังมีอีกหนึ่งเป้าหมายที่ยังไม่บรรลุและต้องการทำให้สำเร็จให้ได้

เราต้องการทำให้ทุกคนเป็นคนเท่าเทียมกันโดยไม่มีรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศมาเป็นตัวกำหนดความเป็นมนุษย์ของแต่ละคนอีกต่อไป เราจะต่อสู้จนกว่าจะทำให้ประเทศนี้หรือโลกใบนี้ไม่มีคำว่า LGBTQ+ ไม่มีคำว่าซีรีส์วาย ไม่มีใครสนใจแล้วว่าตัวละครนำจะเป็นชายกับหญิง ชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง เราจะทำให้ทุกคนเห็นว่าเรากำลังเล่าเรื่องของมนุษย์สองคนอยู่ เล่าเรื่องของมนุษย์ที่มีความหลากหลายอยู่ โดยทุกคนได้รับการเคารพอย่างเท่าเทียมกัน

"นี่คือจุดยืนของเราตั้งแต่แรกและยังทำอยู่ เพราะยังไม่สำเร็จ แต่อยากจะทำให้ได้”         




เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลายคนตื่นเต้นกับการเปิดตัวของซีรีส์วายไทยเรื่อง ‘Cherry Magic 30 ยังซิง’ ที่สร้างจากมังงะญี่ปุ่นเรื่อง Cherry Magic! ว่าด้วยหนุ่มโสดซิงที่ได้รับพลังวิเศษอ่านใจคนอื่นเมื่อสัมผัสตัวได้หลังจากอายุเข้าวัย 30 นำแสดงโดย เต-ตะวัน วิหครัตน์ และ นิว-ฐิติภูมิ เตชะอภัยคุณ 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีซีรีส์วายไทยอีกหลากหลายรสชาติ ซึ่งฉายต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เช่น ‘ลางสังหรณ์’ เรื่องราวแนวแอ็กชั่นสืบสวนสอบสวนที่มีกลิ่นอายลี้ลับเหนือธรรมชาติและความรักที่ผูกพันกันแต่อดีตชาติ ‘พี่เจตคนกลาง’ เล่าชีวิตที่กำลังกลายเป็นคนพิเศษของชายผู้เป็นสื่อกลางและทางผ่านของคนอื่นมาโดยตลอด ไม่นับเรื่อง ‘หอมกลิ่นความรัก’ ซึ่งเพิ่งจบไปโดยทิ้งความรู้สึกเศร้าเคล้าความอบอุ่นใจให้แฟนๆ หลายๆ คน และ ‘การุณยฆาต’ ที่แม้ปล่อยเพียงตัวอย่างสั้นๆ ออกมา แต่การแสดงและเคมีของ ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร และ เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม ก็เอาชนะใจชาวเน็ตได้อย่างถล่มทลายและต่างตั้งตารอคอยให้ถึงวันฉายในปีหน้าโดยเร็ว 


ปฏิเสธไม่ได้ว่าความนิยมของซีรีส์วายเติบโตขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง แม้ไม่ได้เป็นสาววายหรืออยู่ในคอมมูนิตี้ LGBTQ+ หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ ก็ย่อมรับรู้ถึงกระแสดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน ด้วยทุกวันนี้มีละครและซีรีส์วายสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้ได้ชมกันผ่านช่องทีวี แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่างๆ รวมถึงยูทูบ กว่า 17 เรื่องภายในหนึ่งสัปดาห์ ส่งผลให้นักแสดงชายทั้งคู่หลักคู่รองโด่งดังจนสามารถสร้างฐานแฟนคลับของตัวเองได้ทั้งในและต่างประเทศ ต่อยอดเป็นผลงานและอีเวนต์ไปทั่วโลก ที่มาพร้อมเม็ดเงินมากมายให้แก่ตัวศิลปิน ต้นสังกัด และทีมงานเบื้องหลัง

ในแง่ของเนื้อหานั้น ก็มีทั้งที่สร้างความบันเทิงชวนจิ้นตอบโจทย์กลุ่มสาววายที่ฟินกับความรักโรแมนติกของสองชายหนุ่ม บางเรื่องราวก็ไปไกลในแง่ของการสร้างความตระหนัก ชวนฉุกคิด และชูประเด็นให้สังคมได้พูดคุยและถกเถียงกันต่อเกี่ยวกับสิทธิและวิถีชีวิตของกลุ่มชายรักชายและผู้มีความหลากหลายทางเพศกลุ่มอื่นๆ บางกลุ่มในโลกแห่งความเป็นจริง และบางส่วนยังเป็นพลังดึงดูดให้ชาวต่างชาติสนใจความเป็นไทยในแง่มุมต่างๆ มากขึ้น เช่น จุดประกายให้แฟนคลับชาวญี่ปุ่นหันมาเรียนภาษาไทย หรือสร้างแรงบันดาลใจให้แฟนคลับหลายๆ ชาติเดินทางมาตามรอยสถานที่ถ่ายทำของซีรีส์เรื่องโปรดในไทย 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้จึงทำให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเล็งเห็นถึงโอกาสที่จะผลักดันซีรีส์วายไทยให้เป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ในการส่งออกวัฒนธรรมไทยไปทั่วโลกเพื่อสร้างรายได้มูลค่ามหาศาลสู่ประเทศ เช่นเดียวกับที่เกาหลีใต้ทำผ่านวงการ K-Pop 

เราจึงชวน กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับและเขียนบทมากฝีมือมาพูดคุยกันในประเด็นนี้ เพราะเธอเองก็เป็นหนึ่งคนที่อยู่เบื้องหลังผลงานเกี่ยวกับเรื่องราวความรักและชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศมากมาย เช่น ภาพยนตร์เรื่อง It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก แมลงรักในสวนหลังบ้าน (Insects in the Backyard) คืนนั้น (Red Wine in the Dark Night) ซีรีส์วายเรื่อง คาธ (The Eclipse the Series) และอีกหนึ่งเรื่องที่เพิ่งเปิดตัวนักแสดงนำไปก็คือ The Rebound เกมนี้เพื่อนาย


IIIi - การเดินทางของ ‘วายไทย’ 

“รู้สึกเหมือนกันว่า ‘Love Sick’ เป็นซีรีส์ที่ทำให้ทุกคนเริ่มรู้จักซีรีส์วาย” 

กอล์ฟเห็นด้วยกับข้อสังเกตของเราที่ว่ากระแส ‘วายไทย’ ถูกจุดติดนับตั้งแต่ซีรีส์เรื่อง ‘Love Sick: The Series รักวุ่น วัยรุ่นแสบ’ ออกฉายในปี 2557 

ถึงอย่างนั้น เธอก็ได้ขยายความเพิ่มเติมว่า “แต่ตอนนั้นความเข้าใจของคนในสังคมคือซีรีส์วายเป็นคนละเรื่องกับ LGBTQ+ การทำซีรีส์วายไม่ได้อยู่ในร่มเดียวกับซีรีส์เกย์ ซีรีส์ LGBTQ+ ยังจำได้อยู่เลยว่ามีการถกเถียงกันในโลกโซเชียลด้วยซ้ำว่า เฮ้ย มันใช่หรือไม่ใช่” 

“แต่ตัวเราเนี่ยนั่งยิ้มแล้วนะ เพราะการมาของซีรีส์วายมันทำให้คนในสังคมได้เห็นว่าผู้ชายชอบผู้ชาย หรือคนรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าคุณจะเป็น LGBTQ+ หรือไม่ คุณจะเข้าใจ LGBTQ+ หรือเปล่า แต่คุณได้เห็นภาพเหล่านี้ไปเรื่อยๆ แล้ว”

ซีรีส์วายส่วนใหญ่กำหนดให้ตัวละครนำฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายชอบหรือเคยมีแฟนเป็นผู้หญิงมาโดยตลอด เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินมาให้ตกหลุมรักผู้ชายแล้ว ก็มักจะย้ำว่าตัวละครนั้นชอบผู้ชายคนนี้เพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่ได้ชอบผู้ชายคนอื่นหรือไม่ได้เป็นเกย์ 


“สำหรับเราที่พูดเรื่องสิทธิมนุษยชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศมาตลอด แน่นอนว่าการทำให้คนเห็นว่าผู้ชายคนหนึ่งที่ปกติชอบผู้หญิงแต่กลับมาชอบผู้ชายคนหนึ่งแค่คนเดียวเท่านั้น มันแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายแล้ว สังคมอาจจะยังไม่เข้าใจคำว่า ‘ไบเซ็กชวล’ (Bisexual) และซีรีส์วายอาจจะตอบโจทย์แค่สาววายที่อยากดูผู้ชายหน้าตาดีสองคนรักกัน แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นในการจุดกระแสสังคมและสร้างความเข้าใจในสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศไปโดยปริยายผ่านซีรีส์วายได้”

หลายคนอาจจะแย้งว่าการให้ตัวละครชายในเรื่องบอกว่าตัวเองชอบผู้ชายแค่คนนี้เพียงคนเดียวเท่านั้น แทนที่จะบอกตรงๆ ไปเลยว่าเพิ่งค้นพบรสนิยมทางเพศของตัวเองว่าก็เป็นชายรักชาย หรือเป็นเกย์ เป็นไบเซ็กชวล หรือแพนเซ็กชวล (Pansexual) ก็ไม่ได้ช่วยทำให้คนดูเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศ อีกทั้งอาจจะเป็นการเลี่ยงบาลีเพื่อจะได้ไม่ต้องยอมรับออกมาแบบเต็มปากเต็มคำว่ารสนิยมทางเพศแบบชายรักชายก็มีอยู่จริงด้วยซ้ำ 

กรณีนี้กอล์ฟมองว่าเป็นเพราะระบบการศึกษาไทยที่กดทับและไม่เคยสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ชายที่เกิดความรู้สึกเหล่านี้ในใจตัวเอง

“เราผ่านการมีความรักและการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่บอกว่าตัวเองเป็นผู้ชายแท้ๆ ซึ่งเขาอาจจะเป็นไบเซ็กชวลหรือแพนเซ็กชวลก็ได้ แต่เขาอาจจะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วมันก็มีคำเรียกแหละ และเขาก็ยังเชื่อว่าตัวเองยังเป็นชายแท้อยู่ นี่เป็นเพราะว่าระบอบการศึกษาไทยไม่ได้ทำให้เกิดการรับรู้และสร้างความเข้าใจ ต่อให้เขาชอบผู้หญิงและอยากมีครอบครัวกับผู้หญิง แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถมีเพศสัมพันธ์กับกะเทยหรือผู้ชายด้วยกันได้ เขาก็จะต้องบอกว่าตัวเองคือชายแท้ 

“หลักสูตรการศึกษาบ้านเราไม่ได้มองคนเหล่านี้เป็นคนปกติ LGBTQ+ หรือความหลากหลายทางเพศมักถูกกดทับเอาไว้ เพราะฉะนั้นคนที่เป็น หรือคนที่กำลังเริ่มรู้สึกตัวว่าเป็นแบบนี้ เขาจะกล้าเปิดตัว กล้าบอกความรู้สึกกับใครได้”

ดังนั้นซีรีส์วายจึงเป็นสื่อที่ทำหน้าที่บอกเล่าว่าผู้ชายที่มีความรู้สึกดังกล่าวก่อตัวในใจแต่ไม่กล้าพูดออกมาตรงๆ หรือไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นเพศอื่นนอกจากชายแท้ เพราะถูกกดทับด้วยบรรทัดฐานทางสังคมและระบบการศึกษามีอยู่จริง รวมถึงความหลากหลายทางเพศในรูปแบบอื่นๆ ด้วย


“แต่พอมีซีรีส์วายมากขึ้นที่ทำให้รู้ว่าคนเหล่านี้มีอยู่จริง บางคนก็จะพูดว่าจะทำให้มีเกย์มากขึ้นหรือเปล่า มี LGBTQ+ มากขึ้นหรือเปล่า” กอล์ฟยกคำถามที่ตามมาหลังซีรีส์วายเพิ่มจำนวนมากขึ้นในไทย

“เปล่าเลย เมื่อสังคมถูก Normalize ด้วยซีรีส์วายเรื่อยๆ ไม่ว่าคุณจะดูหรือไม่ จะชอบหรือไม่ แต่คุณต้องรู้จักและผ่านตา หรือเข้าใจว่านี่คือความรักของคนเพศเดียวกัน เพราะฉะนั้นเมื่อมันถูกทำให้เห็นในสังคมมากขึ้นๆ คนก็กล้าออกมาจากตู้เสื้อผ้ากันมากขึ้น กล้าบอกว่าตัวเองรู้สึกแบบไหนมากขึ้น เพราะพวกเขาเริ่มรู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องปกตินี่ ในซีรีส์วายก็มี

“ดังนั้นที่เห็นว่าเหมือนจะเพิ่มมากขึ้น แต่จริงๆ มันมีอยู่แล้ว เพราะอย่าลืมว่าก่อนหน้านี้นอกจากระบบการศึกษาจะกดทับคนเหล่านี้ไม่ให้กล้าแสดงออกแล้ว คาแรกเตอร์ของ LGBTQ+ ในสื่อภาพยนตร์หรือทีวี ก็มักจะถูกบุลลี่ เป็นตัวตลก เป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้าน แล้วคนที่รู้ตัวว่าเป็น LGBTQ+ จะกล้าเปิดตัวเหรอ พอมีซีรีส์วาย มันก็ช่วย normalize ให้เห็นว่านี่คือเรื่องปกติ คนที่เป็น LGBTQ+ ก็รู้สึกว่าตัวเองมีพวก มีเพื่อน ก็กล้าเป็นตัวของตัวเอง กล้ามีชีวิตเป็นของตัวเองได้”

ในมุมมองของกอล์ฟ ปัจจุบันซีรีส์วายไทยหลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ได้โฟกัสอยู่แค่ความรักของชายหนุ่มสองคนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เนื้อหาที่กว้างมากขึ้นก็จะยิ่งช่วยให้สังคมเห็นวิถีชีวิตของกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น และน่าจะนำไปสู่การเข้าใจและยอมรับมากยิ่งขึ้นได้

“ซีรีส์วายพูดถึงปัญหาของ LGBTQ+ กับพ่อแม่ พูดถึงการทำความเข้าใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศกับกลุ่มเพื่อนฝูง และก็พัฒนามาเป็นกลุ่ม LGBTQ+ ในแวดวงอาชีพต่างๆ และเริ่มได้เห็นตัวละครพ่อแม่ทำความเข้าใจกับกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น ได้เห็นครอบครัวของตัวละครคนรักเพศเดียวกันมีความสุขมากขึ้นในซีรีส์วาย สิ่งเหล่านี้มันสร้างภาพจำใหม่ของ LGBTQ+ ให้เกิดขึ้น ซึ่งก็จะค่อยๆ ทำให้สังคมเริ่มเปิดใจว่านี่เป็นเรื่องปกติ” 


IIIi - ความหลากหลายของซีรีส์วายกับความคาดหวังของผู้ชม

จริงๆ แล้วมีหลายๆ คนตั้งข้อสังเกตว่าซีรีส์วายไทยยังย่ำอยู่แต่กับการขายจิ้นของสองนักแสดงนำ และเซอร์วิสสาววายด้วยการเน้นฉากเลิฟซีนถึงพริกถึงขิง หรือโชว์เนื้อหนังมังสาของเหล่านักแสดงชายในเรื่อง และคาดหวังว่าควรจะมีการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่านี้ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ด้วย

“คนที่พูดว่าซีรีส์วายควรจะมีความหลากหลายมากกว่านี้ ควรจะพูดประเด็นที่มากกว่าคนสองคนรักกัน ต้องถามก่อนว่าคุณดูซีรีส์วายหรือเปล่า ทุกวันนี้หนึ่งสัปดาห์มีซีรีส์วายให้ดู 17 เรื่อง คุณรู้ไหมว่าแต่ละเรื่องเขาเล่าเรื่องอะไรอยู่ มันมีทั้งเรื่องที่พูดถึงการฝึกของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ มีเรื่องที่พูดถึงโลกคู่ขนาน ย้อนยุคไปยังอดีต มีเรื่องที่เกี่ยวกับกีฬา การแข่งรถ เนื้อหามันหลากหลายมากขึ้นแล้ว คุณอาจจะเห็นบางคัตบางซีนถูกไฮไลต์มาขายจิ้นเป็นคลิปสั้นๆ เลยคิดว่าเนื้อหามันมีแค่นั้น ซีรีส์วายมีแต่อะไรแบบนี้ แต่คุณได้ดูสตอรี่ทั้งเรื่องแล้วหรือยัง เนื้อหาของซีรีส์วายตอนนี้มันไปไกลมากแล้ว และมีความหลากหลายกว่าซีรีส์ชายหญิงด้วยซ้ำ

“แต่ถึงอย่างนั้น ต่อให้มีซีรีส์วายที่เล่าเรื่องเซ็กส์ทั้งเรื่อง ก็ไม่ผิด เพราะซีรีส์คือความบันเทิง คนทำซีรีส์ที่มีแต่เนื้อหาแบบนั้นออกมา แสดงว่ามีกลุ่มคนดูที่ต้องการรับชม และเขามีสิทธิที่จะทำออกมาทดลองตลาด ถ้าทำออกมาแล้วไม่มีคนดู ก็เลิกทำ แต่ถ้ามีคนดูและประสบความสำเร็จ ก็แปลว่ามีกลุ่มคนที่อยากดูเรื่องราวแบบนี้ เขาก็มีสิทธิที่จะทำต่อไป นอกจากนี้เรื่องเซ็กส์มันก็เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ในเมื่อซีรีส์วายเล่าชีวิตของคนคนหนึ่ง โมเมนต์ในชีวิตของเขาแน่นอนว่าก็ต้องมีทั้งเรื่องการทำงาน ความรัก และการมีเซ็กส์ เป็นเรื่องปกติ”


สำหรับกอล์ฟ การทำให้คนเข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางเพศนั้น จะคาดหวังที่การยกระดับซีรีส์วายเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเปลี่ยนที่ระบบการศึกษาและวิธีคิดของคนในสังคมควบคู่กันไปด้วย

“ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงสังคม เราต้องเปลี่ยนตั้งแต่ราก สังคมไทยยังติดอยู่กับการด้อยค่าและการบุลลี่คนที่แตกต่าง เพราะฉะนั้นเราต้องยกระดับความคิดและความเข้าใจของคนในสังคมก่อนว่าความรักของคนสองคน ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร มันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งรากฐานที่สำคัญก็คือระบบการศึกษา การหล่อหลอมให้คนในสังคมเติบโตขึ้นมาด้วยความคิดแบบไหนขึ้นอยู่กับหลักสูตรการศึกษา 

“แต่หลักสูตรการศึกษาไทยในปัจจุบันได้สร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศมากพอแล้วหรือยัง แน่นอนว่ายัง ในทางตรงกันข้าม ตัวหลักสูตรยังมีการด้อยค่า LGBTQ+ อยู่ คนที่เป็นครูบาอาจารย์เองก็ยังกดทับนักเรียนนักศึกษาในกลุ่มนี้อยู่ นักเรียนและนักศึกษาในกลุ่ม LGBTQ+ ยังต้องเรียกร้องสิทธิในการแต่งกายของตัวเองอยู่ บางสถาบันเริ่มอนุญาตแล้ว แต่อีกหลายๆ แห่งยังจำกัดกรอบและกดทับคนที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ ถ้านักเรียนในสถาบันการศึกษายังไม่สามารถเลือกในสิ่งที่ตัวเองจะเป็นได้ แล้วเราจะคาดหวังอะไรได้

“เราจะฝากความหวังไว้ที่ซีรีส์วายให้ช่วยทำให้สังคม Enlighten ต้องถามว่าเราไปคาดหวังกับซีรีส์วายมากเกินไปหรือเปล่า แน่นอนว่าการทำซีรีส์วายเดี๋ยวนี้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม แต่หน้าที่ของซีรีส์วายจริงๆ คือการให้ความบันเทิง ต่อให้เป็นหนังที่ดีที่สุด ดูจบแล้ว Enlighten คนได้กลุ่มหนึ่ง ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะเปลี่ยนสังคมได้ทั้งหมดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องแก้กันตั้งแต่รากฐาน เราต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยให้ได้ก่อน ซึ่งการจะเปลี่ยนรากฐานนี้ของสังคมได้นั้น มันต้องเปลี่ยนด้วยการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” 


IIIi - วายไทยและการเชื่อมโยงกับประเด็นสังคมโลก

“หลังจากเราออกมาจากสภาปุ๊บ เราก็ได้ทำซีรีส์เรื่อง ‘คาธ’ ให้ GMMTV ซึ่งพูดถึงเรื่องการเรียกร้องสิทธิของนักเรียนมัธยม เพื่อที่จะสะท้อนภาพใหญ่ของการเมืองไทย”

กอล์ฟเล่าประสบการณ์การกำกับซีรีส์วายครั้งแรกของตัวเองหลังบทบาทการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรได้ยุติลง 

“ถามว่ามันยากไหม แน่นอนว่ายาก หนึ่งเลย คนให้เงินทุนต้องมีความเข้าใจและเปิดกว้างที่จะให้พูดเรื่องนี้ผ่านซีรีส์วาย ซึ่งทาง GMMTV เสนอมาให้เราเอง เราก็รู้สึกว้าวมากเลย คือเขาอยากทำซีรีส์วายที่มีเนื้อหาก้าวหน้ามากขึ้น พูดถึงสิทธิมากขึ้น แต่ยังต้องคงความเป็นวายอยู่ โอเค เรื่องเรียกร้องสิทธิเราถนัดอยู่แล้ว มันเป็นตัวเราอยู่แล้ว เราสามารถทำได้เต็มที่ แต่แน่นอนว่าก็จะมีโปรดิวเซอร์จากทางช่องมาช่วยปรับจูนเนื้อเรื่องให้ยังคงกลิ่นอายวายอยู่ มันใหม่สำหรับเรามากๆ และเป็นการเรียนรู้ของเรามากๆ ที่จะเอาความเป็นวายกับการเรียกร้องสิทธิมาเจอกันตรงกลางจนเกิดความกลมกล่อมให้ได้มากที่สุด”

กอล์ฟตั้งใจกับซีรีส์วายเรื่องแรกของเธออย่างเต็มที่ แม้จะไม่รู้เลยว่าเหล่าสาววายหรือผู้ชมกลุ่มอื่นๆ จะตอบรับรสชาติใหม่ของซีรีส์วายที่เธอนำเสนอในทางที่ดีหรือไม่ แต่ในที่สุดความทุ่มเทอย่างหนักของเธอก็สัมฤทธิ์ผล

“พอซีรีส์เริ่มออนแอร์ ก็เกิดกระแสคุณครูวารีใส่ชุด 7 สีที่เป็นตัวละครของพี่ทราย เจริญปุระ เริ่มมีอินเตอร์แฟนที่เห็นเหตุการณ์ในซีรีส์แคปภาพไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศตัวเอง จำนวนอินเตอร์แฟนที่เพิ่มมากขึ้นก็เริ่มทำให้แฟนไทยสนใจว่าซีรีส์เรื่องนี้มันเกี่ยวกับอะไร

“จนกระทั่งซีรีส์ถึงตอนจบ บอกได้เลยว่ามันประสบความสำเร็จ มันทำให้เฟิร์ส (คณพันธ์ ปุ้ยตระกูล) และข้าวตัง (ธนวัฒน์ รัตนกิจไพศาล) สามารถมีงานแฟนมีตติ้งที่บราซิลได้ ซึ่งแฟนๆ ในประเทศนี้ก็เป็นกลุ่มแรกๆ ที่พูดถึงเรื่องคาธ และเปรียบเทียบเรื่องราวในเรื่องกับเหตุการณ์ต่างๆ ในประเทศตัวเอง ซึ่งเราตามอ่านตลอดทั้งใน IG และทวิตเตอร์ และรู้สึกว่า เฮ้ย มันไปไกลกว่าที่เราคิด มันกลายเป็น Global Issue ที่อินเตอร์แฟน รวมถึงแฟนชาวไทย สามารถมีส่วนร่วมกับซีรีส์ได้ และมันแสดงให้เห็นว่าแฟนๆ ซีรีส์วายดูเนื้อหาที่มันเข้มข้นมากขึ้นด้วย”


IIIi - ซีรีส์วายไทยกับการเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’

“ซอฟต์พาวเวอร์สำหรับเราคือกระบวนการทำให้คนชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามด้วยความสมัครใจหรือด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่เกิดจากการยัดเยียด หรือบังคับให้เขาเชื่อ หรือบังคับให้เขาอิน แต่ต้องนำเสนออย่างแนบเนียน” 

กอล์ฟให้ความหมายของคำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ในมุมมองของตัวเอง หลังเราถามความเห็นของเธอในฐานะที่เป็นคนในแวดวงซีรีส์วายไทย ซึ่งกำลังมีกระแสดังไกลในระดับโลก จนหลายภาคส่วนในบ้านเราทั้งภาครัฐและเอกชนต้องการที่จะผลักดันให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์เพื่อโปรโมตความเป็นไทยและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ 

“เวลาพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ เราจะนึกถึงเพลงเกาหลี อาหารเกาหลี ซีรีส์เกาหลี และสถานที่ท่องเที่ยวเกาหลีว่าทำไมจู่ๆ ถึงป๊อปปูลาร์ไปทั่วทั้งโลก มันเกิดจากรัฐบาลวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ มีนโยบายของรัฐที่ร่วมมือกันกับเอกชนเพื่อทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ ปรับมายด์เซ็ตเกี่ยวกับการลงทุนว่าเขากำลังลงทุนทำคอนเทนต์เพื่อขายทั่วโลก เพราะฉะนั้นมันต้องเป็นการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อให้ได้ Global Content ที่มีคุณภาพ และใส่ความเป็นเกาหลีที่ต้องการจะขายแทรกเข้าไปอย่างแนบเนียน ค่อยๆ สร้างกระบวนการที่ทำให้คนดูซึมซับสิ่งที่ต้องการเสนออย่างมีศิลปะ

กอล์ฟยกตัวอย่างฉากกินข้าวระหว่างซีรีส์เกาหลีและซีรีส์ไทย 


“ฉากกินข้าวของไทยมีไว้สร้างบทสนทนา ยังไม่ทันจะได้กินด้วยซ้ำ ก็พูดกันก่อนแล้ว เห็นได้ว่ามันเป็นแค่ ‘พร็อป’ แต่ของเกาหลี อาหารต้องเป็นสิ่งที่ตัวละครในเรื่องกินแล้วมีผลบางอย่าง ทำให้คนดูรู้สึกอยากกิน อยากลอง เช่น ซีรีส์ที่เราดู เวลาเครียดนางเอกจะกินเพื่อทำให้ตัวเองหายเครียด และมันก็มีฉากนางเอกเอาอาหารมาวางจานเบ้อเริ่ม แล้วกินจริงจังมาก กินไป พูดไป มีสตอรี่ไป ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่ามันน่าอร่อยจัง เพราะฉะนั้นกระบวนการสร้าง situation แบบนี้เพื่อทำให้คนเชื่อจึงมีความสำคัญ” 

กอล์ฟมองว่ากระบวนการที่ทำให้คนเชื่อจนเกิดการกระทำบางอย่างโดยความสมัครใจตามมาเกิดขึ้นแล้วกับซีรีส์วาย ไม่ว่าจะเป็นการอยากมาเมืองไทยเพื่อตามรอยฉากต่างๆ ที่เห็นในซีรีส์ การอยากเรียนภาษาไทย หรืออยากกินอาหารไทย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่สามารถทำหน้าที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างเต็มรูปแบบ

“ซีรีส์วายไทยพูดถึงมนุษย์ที่รักเพศเดียวกัน พูดถึงความรักความเข้าใจของคนในครอบครัวและสังคมที่มีต่อคนกลุ่มนี้ ทำให้คนได้รู้จักและเห็นมุมมองของ LGBTQ+ ในไทยเพิ่มมากขึ้น บวกกับการรับรู้ของทั่วโลกว่าประเทศเราเป็น LGBTQ+ friendly แต่มันทำให้ LGBTQ+ ทั่วโลกอยากมาอยู่เมืองไทยมากขึ้นไหม สิ่งที่ยังทำให้ไม่คอมพลีทคือไทยยังไม่มีกฎหมายที่ยอมรับว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นมนุษย์และได้สิทธิเท่ากับคนอื่น

“ดังนั้นเรามองว่าถ้า ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ผ่าน ทุกคนสามารถจดทะเบียนสมรสได้ถูกต้องตามกฎหมาย ได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่คนไทยคนหนึ่งควรจะได้จากการสมรส มันก็จะเป็นหมุดหมายสำคัญที่แสดงว่าซีรีส์วายไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำให้ทุกคนเห็นว่าประเทศนี้เปิดกว้าง คนเพศเดียวกันสามารถรักกันได้อย่างเปิดเผยและสามารถจดทะเบียนสมรสได้ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ LGBTQ+ ทั่วโลกรู้สึกว่าเมืองไทยคือ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ที่สามารถเปิดเผยตัวตนและใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย จนอยากมาเที่ยวหรืออยากมาอยู่ที่นี่เพิ่มมากขึ้น”

สิ่งที่จะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันเพื่อให้กระบวนการต่างๆ ในซีรีส์วายทำหน้าที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างสมบูรณ์แบบคือการเปลี่ยนระบบและหลักสูตรการศึกษาไทยเพื่อให้คนในประเทศเข้าใจสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สิทธิของ LGBTQ+ และให้ทุกคนเคารพทุกความแตกต่างหลากหลายอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงผลักดันให้เกิดกฎหมายสมรสเท่าเทียมเพื่อรองรับและยอมรับว่า LGBTQ+ ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งและสามารถใช้สิทธิได้ทุกอย่างเท่ากับมนุษย์คนอื่นๆ 


นอกจากนี้ต้องมี ‘กองทุน’ สนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมคอนเทนต์เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ

“มันเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐบาล โดยเขาต้องเข้าใจก่อนว่าซีรีส์วายมีเพื่ออะไรและกระบวนการของมันนำไปสู่ประโยชน์อะไรได้บ้าง จากนั้นก็ต้องตั้งกองทุนสนับสนุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างคอนเทนต์อย่างแข็งแรง คอนเทนต์มันจะโกอินเตอร์ กลายเป็น Global Content ได้ มันต้องใช้ทุน 

“สุดท้ายต้องหาตลาดมารองรับผู้ผลิต ทุกวันนี้เกิดปรากฏการณ์ที่มีซีรีส์วายให้ผู้ชมเลือกดู 10 กว่าเรื่องต่อหนึ่งอาทิตย์ แปลว่ามันเกิดการแข่งขันทางการตลาดในไทย แล้วรัฐจะส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดตลาดที่ใหญ่ขึ้นในระดับโลกได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่ต้องพิจารณา เพื่อให้ผลงานซีรีส์วายทำหน้าที่ของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด”

การมีตลาดรองรับการแข่งขันกันของบรรดาผู้ผลิตซีรีส์วายยังช่วยให้ซีรีส์วายอยู่ต่อไปได้ในระยะยาวอีกด้วย

“การแข่งขันทางการตลาด ผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับผู้บริโภค ผู้ผลิตต้องแข่งกันสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ดี เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับของที่ดี คนที่ผลิตออกมาไม่ตั้งใจ ทำออกมาไม่ดี ก็จะล้มหายตายจากไป แต่ของที่ดีและได้รับความนิยม มันก็จะยังอยู่ต่อไปได้” 


IIIi - ก้าวต่อไปของการสร้างสรรค์ซีรีส์วายและขับเคลื่อน LGBTQ+

สำหรับกอล์ฟที่มีจุดยืนในการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศมาโดยตลอด เธอมองว่าประเด็นนี้เดินทางมาไกลและก้าวหน้าขึ้นมากจากวันแรกที่เธอเริ่มต้นลงมือทำ

“บางคนอาจจะรู้สึกว่ามันต้องใช้เวลา 40-50 ปี แต่นับตั้งแต่หนังเรื่อง Insect in the Backyard ของเราโดนแบนจนถึงตอนนี้ มันผ่านมาแค่ 10 กว่าปีเอง แต่การเปลี่ยนแปลงของสังคมในการเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศมันเพิ่มขึ้นมากจนเรารู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จ เราทำให้คนตระหนักรู้เรื่องสมรสเท่าเทียม เราทำให้ซีรีส์วายสามารถพูดถึงเรื่องการต่อสู้ การประท้วงเรียกร้องสิทธิ เราว่าเราประสบความสำเร็จในการสร้างแรงกระเพื่อมในสังคม”

ถึงอย่างนั้นกอล์ฟยังมีอีกหนึ่งเป้าหมายที่ยังไม่บรรลุและต้องการทำให้สำเร็จให้ได้

เราต้องการทำให้ทุกคนเป็นคนเท่าเทียมกันโดยไม่มีรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศมาเป็นตัวกำหนดความเป็นมนุษย์ของแต่ละคนอีกต่อไป เราจะต่อสู้จนกว่าจะทำให้ประเทศนี้หรือโลกใบนี้ไม่มีคำว่า LGBTQ+ ไม่มีคำว่าซีรีส์วาย ไม่มีใครสนใจแล้วว่าตัวละครนำจะเป็นชายกับหญิง ชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง เราจะทำให้ทุกคนเห็นว่าเรากำลังเล่าเรื่องของมนุษย์สองคนอยู่ เล่าเรื่องของมนุษย์ที่มีความหลากหลายอยู่ โดยทุกคนได้รับการเคารพอย่างเท่าเทียมกัน

"นี่คือจุดยืนของเราตั้งแต่แรกและยังทำอยู่ เพราะยังไม่สำเร็จ แต่อยากจะทำให้ได้”         




Text:

Witthawat P.

Witthawat P.

PHOTO:

Chanathip K.

Chanathip K.

Related Posts