Ecowalk บาส ปรมินทร์ ชวนเดินป่าใจกลางอารีย์

Ecowalk บาส ปรมินทร์ ชวนเดินป่าใจกลางอารีย์

25 มิ.ย. 2566

SHARE WITH:

25 มิ.ย. 2566

25 มิ.ย. 2566

SHARE WITH:

SHARE WITH:

Ecowalk บาส ปรมินทร์ ชวนเดินป่าใจกลางอารีย์

จากภาพเหล่านี้ คุณเดาออกไหมว่าที่ไหน... ที่นี่คืออารีย์

บึงน้ำแสนสงบ ความเขียวชอุ่มของพรรณไม้ สัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ใช้ชีวิตตามอัธยาศัย วิถีชีวิตตามธรรมชาติที่ยังคงหลงเหลือท่ามกลางตึกสูงใจกลางกรุงที่ บาส - ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา เดินเท้าสำรวจย่านที่อยู่และค้นพบเข้าโดยบังเอิญ แล้วเหมือนยิ่งเดิน ก็จะยิ่งเจออะไรใหม่ๆ เยอะขึ้นอีก นี่คือจุดเริ่มต้นของความสงสัยที่เขาอยากชวนเพื่อนพ้องมาสำรวจร่วมกัน

“อยากรู้ อยากเล่น แค่นี้เลย” จากที่มาแรกสุดของ Ecowalk จนถึงวันนี้ครบรอบ 2 ปีพอดี เราเลยชวนบาสมาทบทวนความทรงจำ ประสบการณ์ เรื่องราวที่ผ่านมา และอนาคตข้างหน้าที่องค์ความรู้เหล่านี้จะกลายเป็นสมบัติส่วนกลางของชุมชน 

“ในใจรู้สึกว่า ความอยากรู้อยากเล่นเนี่ย มันไม่ใช่แค่ของเราคนเดียว วันแรกที่คุยกับผู้คนก็ประกาศเลยว่า เราอยากทำให้เป็นสมบัติสาธารณะ จากตรงนั้นเลยนำมาสู่การเก็บบันทึกให้เป็นระบบระเบียบไว้เล่าต่อให้ลูกหลานฟังเหมือนที่พ่อแม่เราเคยเล่าว่า เมื่อก่อนตรงนี้มีนก มีหิ่งห้อย เคยมานั่งตกปลา ในยุคสมัยนี้ที่สิ่งแวดล้อมผุพังไปเยอะ เราก็อยากบันทึกสิ่งนั้นไว้”

สาระสำคัญของ Ecowalk คือการชวนคนมามีความสัมพันธ์กับธรรมชาติรอบตัวอีกรอบหนึ่ง หลังขาดการติดต่อไม่ว่าจะจากเหตุผลกลใดก็ตาม เพราะฉะนั้นในการออกแบบธีมของการเดินแต่ละครั้ง แม้จะแตกต่างกัน แต่ก็มีเป้าหมายสำคัญที่การชักชวนคนกลับมาเชื่อมโยงกับธรรมชาติในพื้นที่เดิน “ไม่ว่าคุณจะได้อะไรกลับไปนั่นก็ตามแต่ละบุคคล แต่เราอาศัยความอยากรู้อยากเล่นเพื่อให้คุณรู้สึกว่ามันน่าสนใจ”

เจ็ดโมงครึ่งวันอาทิตย์ เวลาดีที่นัดหมายกันออกเดิน “จุดอ่อนแรกตั้งแต่ลุกมาจากเตียง มันมีความไม่อยากทำอยู่ แต่ว่าพอได้ออกมาแล้วทุกครั้ง สิ่งนั้นก็จะหายไป นี่คือสิ่งแรกที่เราเรียนรู้ว่าตัวเองได้พัฒนา”

“และอีกสิ่งหนึ่งที่เราสังเกตเห็นคือ คนเมืองหลายคนที่มาร่วมงานไม่คุ้นชินกับการมีธรรมชาติในเมืองเป็นแหล่งความรู้ หมายความว่า ถ้าไม่มีคนชี้ให้ดู ก็จะไม่เคยรู้ว่ามันมี ซึ่งเราก็คิดว่า มันอาจจะเป็นเรื่องปกติ บางอย่างเราก็ทำมันไปอย่างเคยชิน เช่นมองขึ้นไปเจอต้นอโศกอยู่บนหัว แล้วทำไมถึงเลือกต้นนี้มา มันไม่เคยถูกตั้งคำถาม เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ”

ปฏิกิริยาแรกของทีมงานหลังเดินเข้ามาถึงตรงนี้คือ “มันเงียบ มันไม่เหมือนกรุงเทพฯ มันเย็นสบาย”

“แสดงว่าเรารับรู้ความพิเศษตรงนี้ได้โดยทันที ถูกไหม?” บาสถามกลับ “พื้นที่ตรงนี้เป็นบึงของกรมควบคุมมลพิษ ที่ปัจจุบันคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” 

"กว่า 15 เดือนที่ผ่านการพูดคุยกับทั้งคนในอาคารสำนักงานและในย่าน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ ที่นี่จะถูกเก็บให้คล้ายเดิมที่สุด โดยคำนึงถึงสัตว์ที่เคยอยู่ จนเกิดเป็นแผนแม่บทของย่านโดยมีคนเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้ตรงนี้เป็น Passive Park เป็นพื้นที่ที่คนได้เรียนรู้กับการอยู่กับธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง”


นิยามของ Passive Park คือสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจแบบสงบ ซึ่งรายล้อมทางเดินหญ้าที่เรากำลังเดินเท้ากันตอนนี้ล้วนเกิดขึ้นเองโดยมีธรรมชาติเป็นผู้รังสรรค์ทั้งหมด เราเห็นร่องรอยการใช้งานจริงโดยผู้คนจากเปลญวน หรือการกรุยเส้นทางเดิน แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ว่า ธรรมชาติยังคงเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิตผู้คนเสมอ

“ระหว่างการก่อสร้างปรับภูมิทัศน์บางส่วน การมีส่วนร่วมของ Ecowalk ในฐานะที่เรามาเดิน เรารู้จักพื้นที่เยอะ เรารู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน เราก็ให้ข้อมูลไปว่า มีต้นไม้อะไรบ้าง และควรจะทำอะไรต่อ จึงเกิดการฟื้นฟูธรรมชาติขึ้นมา ซึ่งก็อยู่ในระยะที่ 2 ต่อไป ที่จะทำให้พื้นที่ฟื้นตัวได้ด้วยตัวเอง ด้วยวิธีการทางธรรมชาติ และเป็นการบำรุงรักษาอย่างยั่งยืน”

“มีสิ่งหนึ่งที่เราต่างก็สงสัยมาตลอดคือ พอเป็นสถานที่ราชการ เราเข้าไปใช้งานได้หรือไม่ได้ก็ไม่รู้ นี่คือความสำเร็จของย่าน คือเราได้สวนเพิ่มโดยใช้พื้นที่ราชการ”


“กลิ่นเมืองมันเป็นอย่างไร รอบบ้านตัวเองกลิ่นอย่างไร หนวกหูไหม วันนี้มีลมหรือแดด ทำไมตึกนี้กำลังบังลมที่บ้าน เคยสังเกตไหม มันเกี่ยวกับความอยู่ดีของเราทั้งนั้นเลยนะ” บาสชวนเราให้กลับมาใช้ประสาทสัมผัสกับสิ่งรอบตัวอีกครั้ง นี่คือกระบวนการที่ Ecowalk ทำงาน

“Ecowalk ไม่เคยเน้นเรื่องความรู้เป็นหลัก แต่ด้วยขับเคลื่อนด้วยเรื่องที่เราเห็นแล้วสงสัย หรือแค่ดูแล้วซึมซับไป บางทีแค่อนุญาตให้ประสาทสัมผัสเราได้มีความรู้สึกเหล่านี้เข้ามา เราคิดว่าการตีความว่าพื้นที่นั้นๆ ว่ามีความหมายอย่างไรกับตัวเองมันจะเปลี่ยนไป”


ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้น บางอย่างเราก็เห็นประจักษ์ด้วยตา แต่บางอย่างก็กำลังค่อยเป็นไปเพียงรอวันปะทุ บาสอยากให้ความรู้สึกที่ผูกพันกับธรรมชาตินี้สร้างจิตสำนึกถึงความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบ Place-based Learning หรือการเรียนรู้จากสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่

“สามัญสำนึกทุกวันนี้ดันถูกบั่นทอนไปด้วยความฉลาดของทุนนิยม ในอดีตเศรษฐกิจเฟื่องฟู เราสามารถใช้เงินแก้ปัญหาต่างๆ ที่เราขาดแคลนได้ แต่ถามจริง วันนี้รุ่นพวกเราทำมาหากินยากนะ เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไร นี่ไง สิ่งนี้ไม่ต้องใช้เงินสักบาท แล้วก็อย่าอหังการ์ว่าเราแก้ได้ทุกอย่าง ถามจริงเราสู้กับธรรมชาติสำเร็จสักเรื่องไหม ประเทศเราหมดเงินไปกี่บาทกับการสู้น้ำท่วม”

“เรารู้สึกว่าเราอยากขับเคลื่อนให้เห็นความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่เรามีส่วนร่วมทำให้มันดีขึ้นได้”


สองปีที่โตขึ้น จากปีแรกที่ชักชวนเพื่อนฝูงมาช่วยกัน เข้าสู่ปีที่สองที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กร ความสุขประเทศไทย และธนาคารจิตอาสา ทำให้โครงการขยายจากกิจกรรมเช้าวันอาทิตย์ สู่คู่มือการสร้างพื้นที่ความรู้รอบบ้านที่ทำได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของโลก

“เขาเห็นว่าสิ่งนี้มันเป็นหนทางในการให้คนเข้าถึงสุขภาวะทางปัญญาได้ ซึ่งธรรมชาติเป็นหนึ่งในนั้น องค์กรทั้งสองเห็นว่าสิ่งที่เราทำมันสอดคล้องกัน จึงให้ทุนสนับสนุนเรามาทำงาน มันไม่มีอะไรวิเศษกว่านี้อีกแล้ว ที่มีคนสนับสนุนให้ทรัพยากรเราได้ทำในสิ่งที่เรามีความสุข”

“อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่า เราอยากให้สิ่งนี้เป็นสมบัติสาธารณะ สิ่งที่ยังขาดคือ การถอดกระบวนการเหล่านี้มาเป็นข้อปฏิบัติที่คนอื่นๆ ทำตามได้ เพราะฉะนั้นในปีนี้ที่ได้ทุนมา เงินเกือบทั้งหมดจะถูกนำไปใช้กับการผลิตกระบวนการและคู่มือการทำงาน Ecowalk แต่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เพราะ Ecowalk เป็นกระบวนการเฉพาะ ต้องมาเดินด้วยกันก่อนถึงจะเข้าใจมากขึ้น แต่อย่างน้อยคุณมีไกด์ไลน์ คุณก็รู้ว่าคุณจะทำอะไรได้บ้างในเบื้องต้น” 

ในอนาคต คู่มือจะจัดทำขึ้นทั้งภาษาไทยเป็น Creative Common ที่ดาวน์โหลดได้ฟรี และภาษาอังกฤษสำหรับจำหน่าย “เพื่อทำให้คนได้รับรู้ว่า สิ่งนี้มันทำได้ทั่วทุกหนแห่ง”


บทเรียนบทแรกที่บาสได้จากการทำงาน Ecowalk คือความเชื่อในเครือข่าย และการดำรงอยู่บนหลักการที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ทุกฝ่ายในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่มนุษย์​ แต่หมายถึงธรรมชาติด้วย สำคัญคือ หลักการต้องมั่นคง ไม่คลอนแคลน

“อีกบทเรียนคือ เรารู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลง เราได้แค่ตัวกระตุ้น สิ่งที่เราทำได้มันคือแค่นี้เอง แต่ก็ไม่โกหกว่ารู้สึกภูมิใจว่า แค่การเดินรอบบ้านทำได้ทั้งสวนเพิ่ม ทั้งสัตว์ พืช ที่จะยังคงอยู่แบบนี้ แล้วจะดีขึ้นกว่านี้อีก เรามั่นใจมากว่าหลังจากเสร็จการปรับปรุงพื้นที่บึงน้ำปีหน้า เราจะเห็นพืชเพิ่มขึ้น เห็นสัตว์หลายชนิดเพิ่มขึ้นที่คุณอาจจะไม่เคยเห็นในเมืองมาก่อน”

“มนุษย์เราจะไม่สามารถจินตนาการได้เลยถ้าไม่เคยรู้ว่ามีสิ่งนี้อยู่ เราเติบโตมาในเมืองที่ทำให้เห็นคุณค่าของธรรมชาติหรือเปล่า” สิ่งที่ผู้คนยังขาดหายไปคือการสานสัมพันธ์กับธรรมชาติ รอบตัวคือสิ่งที่เคยชิน การดีไซน์คือคำตอบของเรื่องนี้ “ซึ่งเมืองมีหน้าที่ออกแบบให้ผู้คนมาปฏิสัมพันธ์กัน ดีไซน์ให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”


บาสให้เราลองคิดง่ายๆ ว่า “เดินออกมาแล้วได้กลิ่นหอมของธรรมชาติ หรือเดินออกมาแล้วได้กลิ่นควัน เมืองแบบไหนที่เราอยากได้ แล้วเราจะรู้จักธรรมชาติที่ให้คุณค่ากับเราได้อย่างไร เราคิดว่าเราอยากพูดเรื่องนี้นะ เรื่องความรับรู้ของเมืองมันส่งผลอย่างไรต่อการขาดการติดต่อกับธรรมชาติ”

“เมืองอย่างกรุงเทพฯ มีปัญหาตรงที่ว่าเราไม่เคยมีฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพว่า เมืองมีอะไรบ้าง ซึ่งรู้ไหมว่า ระบบเศรษฐกิจ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ของ GDP โลกมาจากต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ (Nature Capital) แล้วกรุงเทพฯ รู้หรือยังว่าเรามีอะไรบ้าง” นั่นเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมองค์ความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคลังข้อมูลเหล่านี้แหละคือวัตถุดิบชั้นดีที่ทำให้รู้ว่าเราจะจัดการบริหารทรัพยากรธรรมชาติอย่างไรเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้คนทุกคนอย่างเท่าเทียม 

“เพราะฉะนั้น การเก็บข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญมากของการพัฒนาเมือง เมื่อสัปดาห์ก่อน กรุงเทพมหานครพึ่งมีการประชุมผังเมืองสิบปี หนึ่งในนั้นคือการประกาศว่า กรุงเทพฯ จะมีป่าเป็นของตัวเอง น่าจะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่รู้สึกว่ามีความหวังว่าเมืองกำลังมาถูกทางแล้ว เพราะส่วนสำคัญคือ เมืองต้องมีส่วนร่วมกับงานอนุรักษ์”

“เราว่าทุกอย่างกำลังขับเคลื่อนไปในทางที่ดีขึ้นนะ”


จากภาพเหล่านี้ คุณเดาออกไหมว่าที่ไหน... ที่นี่คืออารีย์

บึงน้ำแสนสงบ ความเขียวชอุ่มของพรรณไม้ สัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ใช้ชีวิตตามอัธยาศัย วิถีชีวิตตามธรรมชาติที่ยังคงหลงเหลือท่ามกลางตึกสูงใจกลางกรุงที่ บาส - ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา เดินเท้าสำรวจย่านที่อยู่และค้นพบเข้าโดยบังเอิญ แล้วเหมือนยิ่งเดิน ก็จะยิ่งเจออะไรใหม่ๆ เยอะขึ้นอีก นี่คือจุดเริ่มต้นของความสงสัยที่เขาอยากชวนเพื่อนพ้องมาสำรวจร่วมกัน

“อยากรู้ อยากเล่น แค่นี้เลย” จากที่มาแรกสุดของ Ecowalk จนถึงวันนี้ครบรอบ 2 ปีพอดี เราเลยชวนบาสมาทบทวนความทรงจำ ประสบการณ์ เรื่องราวที่ผ่านมา และอนาคตข้างหน้าที่องค์ความรู้เหล่านี้จะกลายเป็นสมบัติส่วนกลางของชุมชน 

“ในใจรู้สึกว่า ความอยากรู้อยากเล่นเนี่ย มันไม่ใช่แค่ของเราคนเดียว วันแรกที่คุยกับผู้คนก็ประกาศเลยว่า เราอยากทำให้เป็นสมบัติสาธารณะ จากตรงนั้นเลยนำมาสู่การเก็บบันทึกให้เป็นระบบระเบียบไว้เล่าต่อให้ลูกหลานฟังเหมือนที่พ่อแม่เราเคยเล่าว่า เมื่อก่อนตรงนี้มีนก มีหิ่งห้อย เคยมานั่งตกปลา ในยุคสมัยนี้ที่สิ่งแวดล้อมผุพังไปเยอะ เราก็อยากบันทึกสิ่งนั้นไว้”

สาระสำคัญของ Ecowalk คือการชวนคนมามีความสัมพันธ์กับธรรมชาติรอบตัวอีกรอบหนึ่ง หลังขาดการติดต่อไม่ว่าจะจากเหตุผลกลใดก็ตาม เพราะฉะนั้นในการออกแบบธีมของการเดินแต่ละครั้ง แม้จะแตกต่างกัน แต่ก็มีเป้าหมายสำคัญที่การชักชวนคนกลับมาเชื่อมโยงกับธรรมชาติในพื้นที่เดิน “ไม่ว่าคุณจะได้อะไรกลับไปนั่นก็ตามแต่ละบุคคล แต่เราอาศัยความอยากรู้อยากเล่นเพื่อให้คุณรู้สึกว่ามันน่าสนใจ”

เจ็ดโมงครึ่งวันอาทิตย์ เวลาดีที่นัดหมายกันออกเดิน “จุดอ่อนแรกตั้งแต่ลุกมาจากเตียง มันมีความไม่อยากทำอยู่ แต่ว่าพอได้ออกมาแล้วทุกครั้ง สิ่งนั้นก็จะหายไป นี่คือสิ่งแรกที่เราเรียนรู้ว่าตัวเองได้พัฒนา”

“และอีกสิ่งหนึ่งที่เราสังเกตเห็นคือ คนเมืองหลายคนที่มาร่วมงานไม่คุ้นชินกับการมีธรรมชาติในเมืองเป็นแหล่งความรู้ หมายความว่า ถ้าไม่มีคนชี้ให้ดู ก็จะไม่เคยรู้ว่ามันมี ซึ่งเราก็คิดว่า มันอาจจะเป็นเรื่องปกติ บางอย่างเราก็ทำมันไปอย่างเคยชิน เช่นมองขึ้นไปเจอต้นอโศกอยู่บนหัว แล้วทำไมถึงเลือกต้นนี้มา มันไม่เคยถูกตั้งคำถาม เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ”

ปฏิกิริยาแรกของทีมงานหลังเดินเข้ามาถึงตรงนี้คือ “มันเงียบ มันไม่เหมือนกรุงเทพฯ มันเย็นสบาย”

“แสดงว่าเรารับรู้ความพิเศษตรงนี้ได้โดยทันที ถูกไหม?” บาสถามกลับ “พื้นที่ตรงนี้เป็นบึงของกรมควบคุมมลพิษ ที่ปัจจุบันคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” 

"กว่า 15 เดือนที่ผ่านการพูดคุยกับทั้งคนในอาคารสำนักงานและในย่าน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ ที่นี่จะถูกเก็บให้คล้ายเดิมที่สุด โดยคำนึงถึงสัตว์ที่เคยอยู่ จนเกิดเป็นแผนแม่บทของย่านโดยมีคนเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้ตรงนี้เป็น Passive Park เป็นพื้นที่ที่คนได้เรียนรู้กับการอยู่กับธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง”


นิยามของ Passive Park คือสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจแบบสงบ ซึ่งรายล้อมทางเดินหญ้าที่เรากำลังเดินเท้ากันตอนนี้ล้วนเกิดขึ้นเองโดยมีธรรมชาติเป็นผู้รังสรรค์ทั้งหมด เราเห็นร่องรอยการใช้งานจริงโดยผู้คนจากเปลญวน หรือการกรุยเส้นทางเดิน แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ว่า ธรรมชาติยังคงเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิตผู้คนเสมอ

“ระหว่างการก่อสร้างปรับภูมิทัศน์บางส่วน การมีส่วนร่วมของ Ecowalk ในฐานะที่เรามาเดิน เรารู้จักพื้นที่เยอะ เรารู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน เราก็ให้ข้อมูลไปว่า มีต้นไม้อะไรบ้าง และควรจะทำอะไรต่อ จึงเกิดการฟื้นฟูธรรมชาติขึ้นมา ซึ่งก็อยู่ในระยะที่ 2 ต่อไป ที่จะทำให้พื้นที่ฟื้นตัวได้ด้วยตัวเอง ด้วยวิธีการทางธรรมชาติ และเป็นการบำรุงรักษาอย่างยั่งยืน”

“มีสิ่งหนึ่งที่เราต่างก็สงสัยมาตลอดคือ พอเป็นสถานที่ราชการ เราเข้าไปใช้งานได้หรือไม่ได้ก็ไม่รู้ นี่คือความสำเร็จของย่าน คือเราได้สวนเพิ่มโดยใช้พื้นที่ราชการ”


“กลิ่นเมืองมันเป็นอย่างไร รอบบ้านตัวเองกลิ่นอย่างไร หนวกหูไหม วันนี้มีลมหรือแดด ทำไมตึกนี้กำลังบังลมที่บ้าน เคยสังเกตไหม มันเกี่ยวกับความอยู่ดีของเราทั้งนั้นเลยนะ” บาสชวนเราให้กลับมาใช้ประสาทสัมผัสกับสิ่งรอบตัวอีกครั้ง นี่คือกระบวนการที่ Ecowalk ทำงาน

“Ecowalk ไม่เคยเน้นเรื่องความรู้เป็นหลัก แต่ด้วยขับเคลื่อนด้วยเรื่องที่เราเห็นแล้วสงสัย หรือแค่ดูแล้วซึมซับไป บางทีแค่อนุญาตให้ประสาทสัมผัสเราได้มีความรู้สึกเหล่านี้เข้ามา เราคิดว่าการตีความว่าพื้นที่นั้นๆ ว่ามีความหมายอย่างไรกับตัวเองมันจะเปลี่ยนไป”


ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้น บางอย่างเราก็เห็นประจักษ์ด้วยตา แต่บางอย่างก็กำลังค่อยเป็นไปเพียงรอวันปะทุ บาสอยากให้ความรู้สึกที่ผูกพันกับธรรมชาตินี้สร้างจิตสำนึกถึงความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบ Place-based Learning หรือการเรียนรู้จากสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่

“สามัญสำนึกทุกวันนี้ดันถูกบั่นทอนไปด้วยความฉลาดของทุนนิยม ในอดีตเศรษฐกิจเฟื่องฟู เราสามารถใช้เงินแก้ปัญหาต่างๆ ที่เราขาดแคลนได้ แต่ถามจริง วันนี้รุ่นพวกเราทำมาหากินยากนะ เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไร นี่ไง สิ่งนี้ไม่ต้องใช้เงินสักบาท แล้วก็อย่าอหังการ์ว่าเราแก้ได้ทุกอย่าง ถามจริงเราสู้กับธรรมชาติสำเร็จสักเรื่องไหม ประเทศเราหมดเงินไปกี่บาทกับการสู้น้ำท่วม”

“เรารู้สึกว่าเราอยากขับเคลื่อนให้เห็นความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่เรามีส่วนร่วมทำให้มันดีขึ้นได้”


สองปีที่โตขึ้น จากปีแรกที่ชักชวนเพื่อนฝูงมาช่วยกัน เข้าสู่ปีที่สองที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กร ความสุขประเทศไทย และธนาคารจิตอาสา ทำให้โครงการขยายจากกิจกรรมเช้าวันอาทิตย์ สู่คู่มือการสร้างพื้นที่ความรู้รอบบ้านที่ทำได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของโลก

“เขาเห็นว่าสิ่งนี้มันเป็นหนทางในการให้คนเข้าถึงสุขภาวะทางปัญญาได้ ซึ่งธรรมชาติเป็นหนึ่งในนั้น องค์กรทั้งสองเห็นว่าสิ่งที่เราทำมันสอดคล้องกัน จึงให้ทุนสนับสนุนเรามาทำงาน มันไม่มีอะไรวิเศษกว่านี้อีกแล้ว ที่มีคนสนับสนุนให้ทรัพยากรเราได้ทำในสิ่งที่เรามีความสุข”

“อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่า เราอยากให้สิ่งนี้เป็นสมบัติสาธารณะ สิ่งที่ยังขาดคือ การถอดกระบวนการเหล่านี้มาเป็นข้อปฏิบัติที่คนอื่นๆ ทำตามได้ เพราะฉะนั้นในปีนี้ที่ได้ทุนมา เงินเกือบทั้งหมดจะถูกนำไปใช้กับการผลิตกระบวนการและคู่มือการทำงาน Ecowalk แต่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เพราะ Ecowalk เป็นกระบวนการเฉพาะ ต้องมาเดินด้วยกันก่อนถึงจะเข้าใจมากขึ้น แต่อย่างน้อยคุณมีไกด์ไลน์ คุณก็รู้ว่าคุณจะทำอะไรได้บ้างในเบื้องต้น” 

ในอนาคต คู่มือจะจัดทำขึ้นทั้งภาษาไทยเป็น Creative Common ที่ดาวน์โหลดได้ฟรี และภาษาอังกฤษสำหรับจำหน่าย “เพื่อทำให้คนได้รับรู้ว่า สิ่งนี้มันทำได้ทั่วทุกหนแห่ง”


บทเรียนบทแรกที่บาสได้จากการทำงาน Ecowalk คือความเชื่อในเครือข่าย และการดำรงอยู่บนหลักการที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ทุกฝ่ายในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่มนุษย์​ แต่หมายถึงธรรมชาติด้วย สำคัญคือ หลักการต้องมั่นคง ไม่คลอนแคลน

“อีกบทเรียนคือ เรารู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลง เราได้แค่ตัวกระตุ้น สิ่งที่เราทำได้มันคือแค่นี้เอง แต่ก็ไม่โกหกว่ารู้สึกภูมิใจว่า แค่การเดินรอบบ้านทำได้ทั้งสวนเพิ่ม ทั้งสัตว์ พืช ที่จะยังคงอยู่แบบนี้ แล้วจะดีขึ้นกว่านี้อีก เรามั่นใจมากว่าหลังจากเสร็จการปรับปรุงพื้นที่บึงน้ำปีหน้า เราจะเห็นพืชเพิ่มขึ้น เห็นสัตว์หลายชนิดเพิ่มขึ้นที่คุณอาจจะไม่เคยเห็นในเมืองมาก่อน”

“มนุษย์เราจะไม่สามารถจินตนาการได้เลยถ้าไม่เคยรู้ว่ามีสิ่งนี้อยู่ เราเติบโตมาในเมืองที่ทำให้เห็นคุณค่าของธรรมชาติหรือเปล่า” สิ่งที่ผู้คนยังขาดหายไปคือการสานสัมพันธ์กับธรรมชาติ รอบตัวคือสิ่งที่เคยชิน การดีไซน์คือคำตอบของเรื่องนี้ “ซึ่งเมืองมีหน้าที่ออกแบบให้ผู้คนมาปฏิสัมพันธ์กัน ดีไซน์ให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”


บาสให้เราลองคิดง่ายๆ ว่า “เดินออกมาแล้วได้กลิ่นหอมของธรรมชาติ หรือเดินออกมาแล้วได้กลิ่นควัน เมืองแบบไหนที่เราอยากได้ แล้วเราจะรู้จักธรรมชาติที่ให้คุณค่ากับเราได้อย่างไร เราคิดว่าเราอยากพูดเรื่องนี้นะ เรื่องความรับรู้ของเมืองมันส่งผลอย่างไรต่อการขาดการติดต่อกับธรรมชาติ”

“เมืองอย่างกรุงเทพฯ มีปัญหาตรงที่ว่าเราไม่เคยมีฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพว่า เมืองมีอะไรบ้าง ซึ่งรู้ไหมว่า ระบบเศรษฐกิจ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ของ GDP โลกมาจากต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ (Nature Capital) แล้วกรุงเทพฯ รู้หรือยังว่าเรามีอะไรบ้าง” นั่นเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมองค์ความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคลังข้อมูลเหล่านี้แหละคือวัตถุดิบชั้นดีที่ทำให้รู้ว่าเราจะจัดการบริหารทรัพยากรธรรมชาติอย่างไรเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้คนทุกคนอย่างเท่าเทียม 

“เพราะฉะนั้น การเก็บข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญมากของการพัฒนาเมือง เมื่อสัปดาห์ก่อน กรุงเทพมหานครพึ่งมีการประชุมผังเมืองสิบปี หนึ่งในนั้นคือการประกาศว่า กรุงเทพฯ จะมีป่าเป็นของตัวเอง น่าจะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่รู้สึกว่ามีความหวังว่าเมืองกำลังมาถูกทางแล้ว เพราะส่วนสำคัญคือ เมืองต้องมีส่วนร่วมกับงานอนุรักษ์”

“เราว่าทุกอย่างกำลังขับเคลื่อนไปในทางที่ดีขึ้นนะ”


Text:

Nathanich C.

Nathanich C.

PHOTO:

Chanathip K.

Chanathip K.

Related Posts