Fathom Bookspace ร้านหนังสืออิสระย่านสวนพลู ที่กระตุ้นให้ทุกคนรู้จักตัวเองและโลกมากยิ่งขึ้น

Fathom Bookspace ร้านหนังสืออิสระย่านสวนพลู ที่กระตุ้นให้ทุกคนรู้จักตัวเองและโลกมากยิ่งขึ้น

19 มี.ค. 2567

SHARE WITH:

19 มี.ค. 2567

19 มี.ค. 2567

SHARE WITH:

SHARE WITH:

Fathom Bookspace ร้านหนังสืออิสระย่านสวนพลู ที่กระตุ้นให้ทุกคนรู้จักตัวเองและโลกมากยิ่งขึ้น

“เราตั้งใจที่จะทำร้านให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ ให้คนได้รู้จักตัวเอง เข้าใจคนอื่น และมองเห็นความเป็นไปของสังคมโลกมากขึ้น”

วันสุดท้ายของการทำงานในสัปดาห์ เราเดินฝ่าแสงแดดช่วงบ่ายจาก MRT ลุมพินี มุ่งหน้าสู่สาทร ซอย 3 หรือซอยสวนพลู เพื่อไปเยือนร้าน Fathom Bookspace เมื่อก้าวเข้าภายในตัวร้าน ความหงุดหงิดและเหนื่อยล้าจากอากาศร้อนๆ ก็มลายหายสิ้นไปหมด ความโล่งโปร่งสบายของการตกแต่งร้าน ที่หันมองไปทางไหนก็ให้ความรู้สึกเย็นตาสบายใจ ช่วยให้ทั้งร่างกายและอารมณ์ความรู้สึกได้ผ่อนคลายอย่างช้าๆ

เมื่อเอเนอร์จี้กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว เราจึงเริ่มเดินสำรวจบริเวณหน้าร้านแห่งนี้ที่เรียงรายไปด้วยเชลฟ์หนังสือขนาดเล็กใหญ่สลับกันไป ตรงกลางมีโต๊ะขนาดย่อมตั้งอยู่ ทั้งหมดอัดแน่นไปด้วยหนังสือนานาประเภท ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายไทย ต่างประเทศ และฉบับแปล หนังสือเด็ก หนังสือภาพ อีกทั้งยังมีวรรณกรรมวิทยาศาสตร์ การเมือง และจิตวิญญาณ (Spiritual) รวมไปถึงแมกกาซีนธีมต่างๆ ซีน และไกด์บุ๊กนำเที่ยวด้วย 

หลังจากเพลิดเพลินกับการสอดส่องงานเขียนหลากหลายแนวอยู่พักใหญ่ สองเจ้าของร้าน ได้แก่ ป่าน-ภัทรอนงค์ สิรีพิพัฒน์ และ กุ๊กไก่-ขนิษฐา ธรรมปัญญา ก็ชักชวนเราขึ้นไปพูดคุยบนชั้นลอย ที่ให้ความรู้สึกเหมือนมานั่งชิลล์ในห้องนั่งเล่นบ้านเพื่อนที่ละลานตาไปด้วยหนังสือมากมายที่สะสมไว้เต็มชั้นหนังสือ

“มันมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียด ผู้คนต่างแสดงจุดยืนต่างๆ นานา ซึ่งเมื่อเกือบ 8 ปีก่อน มันเป็นช่วงเวลาที่คนพูดทุกอย่างผ่านโซเชียลมีเดีย พูดอะไรก็ได้ ด่าใครก็ได้ คอมเมนต์อะไรก็ได้ เราก็รู้สึกว่าทำไมคนใจร้ายกันจังเลย เราเลยอยากให้คน ‘น่ารัก’ ต่อกัน ถ้าคนเรามีโอกาสได้เจอกัน ทำความรู้จักกันเพื่อเข้าใจกันมากกว่านี้ ก็น่าจะมีทางออกต่อเรื่องต่างๆ ที่ดีกว่านี้

ป่านเล่าถึงแรงบันดาลใจที่จุดประกายให้ทั้งเธอและกุ๊กไก่เปิดร้านหนังสือแห่งนี้ ซึ่งไม่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อการขายหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้เป็น ‘พื้นที่เรียนรู้’ ดังที่เกริ่นไปตอนต้น โดยใช้เครื่องมือหลัก 4 ประการ ได้แก่ หนังสือ ศิลปะ กระบวนการเรียนรู้ และผู้คน เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนที่เข้ามาในร้านได้รู้จักและเข้าใจตัวเอง ผู้อื่น และโลกมากยิ่งขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

“ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมต้องเป็นซอยสวนพลู เรามองว่าถ้าจะทำงานด้านการเรียนรู้ เราอยากอยู่ในชุมชนที่มีผู้คนหลากหลาย พื้นที่ตรงนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมือง นั่งรถไฟฟ้ามาไม่ลำบาก ผู้คนเดินทางเข้าถึงเราได้ไม่ยาก และละแวกนี้ก็มีทั้งนักศึกษาวิทยาลัย พนักงานออฟฟิศ ชาวบ้านที่ค้าขายในตลาด และผู้อยู่อาศัยในคอนโด เราก็รู้สึกว่ามันมีความหลากหลายของผู้คน ก็น่าจะเป็นพื้นที่ที่ดี” 



สร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านหน้าร้านหนังสือ

“ช่วงแรกๆ เราเปลี่ยนธีมร้านทุก 2 เดือน”

ธีมที่กุ๊กไก่พูดถึงนั้นคือประเด็นหลักในภาพรวมที่ทางร้านต้องการชวนคุย และแตกออกมาเป็นกิจกรรมย่อยที่ไม่เหมือนกันในแต่ละสัปดาห์ เช่น นิทรรศการที่ผู้ชมสามารถอินเทอร์แอ็กหรือร่วมเล่นสนุกได้ เสวนา เวิร์กช็อป การแนะนำหนังสือในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการแสดงละครที่มีแก่นเรื่องสอดคล้องกับธีมหลัก

อย่างไรก็ตามการดำเนินงานภายใต้คอนเซปต์นี้ก็ถึงจุดเปลี่ยนเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคโควิด

“กลายเป็นว่าคนไม่ได้มาหน้าร้านในช่วงโควิด เราก็เลยเริ่มขายหนังสือออนไลน์ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าโควิด เราไม่ได้ขายออนไลน์เลย” ป่านเล่าย้อนไปยังการตัดสินใจของร้านในครั้งนั้น “พอสถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว มันก็กลายเป็นว่างานออนไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งงานที่ต้องทำในตอนนี้เหมือนกัน ปีนี้เราเลยเปลี่ยนมาลดจำนวนการเปิดหน้าร้าน เพื่อโฟกัสให้ดีขึ้นทั้ง 2 อย่าง ออนไลน์เราคิดว่ายังจำเป็น ส่วนหน้าร้านก็อยากจะโฟกัสให้ดี เลยคิดว่าถ้างั้นเราทำเท่าที่เรามีแรงทำ อย่างตอนนี้ก็จัดกิจกรรมเดือนละ 2 หนเป็นอย่างน้อย”

ปัจจุบัน Fathom Bookspace เปิดหน้าร้านเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ ตั้งแต่วันศุกร์ถึงวันจันทร์ อีก 3 วันที่เหลือในช่วงกลางสัปดาห์นั้นจะอุทิศให้กับการจัดการในพาร์ตออนไลน์และส่วนอื่นๆ ของร้าน ส่วนการจัดธีมร้านทุกๆ 2 เดือนและสอดแทรกกิจกรรมทุกสัปดาห์นั้นก็เปลี่ยนมาเป็นการจัดกิจกรรมเดือนละ 2 ครั้งแทน แต่อาจจะปรับเสริมจำนวนได้มากกว่านี้ในแต่ละเดือน หากทั้งป่านและกุ๊กไก่ปิ๊งไอเดียที่น่าสนใจจากการพูดคุยกับบุคคลต่างๆ ที่พวกเธอได้มีโอกาสพบเจอและต่อยอดเป็นกิจกรรมเพิ่มเติมสนุกๆ 

“นี่คือเป้าหมายของปีนี้ที่จะต้องทำให้ได้” ป่านตั้งปณิธาน

“ส่วนกระบวนการเรียนรู้ในปีนี้ก็จะได้รับการออกแบบใหม่ นอกจากนิทรรศการและเวิร์กช็อปที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอใหม่ๆ แล้ว เราอาจจะเพิ่มเครื่องมืออื่นๆ เข้ามาด้วย เพราะเราคิดว่าคนอาจจะต้องการวิธีที่จะทำความรู้จักตัวเองแตกต่างกันไป บางคนอ่านหนังสือแล้วรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเอง บางคนบอกว่าวาดรูปแล้วช่วยได้ บางคนบอกว่าเล่นโยคะถึงจะช่วย เราก็จะเสริมเครื่องมือเหล่านี้เพื่อทำให้คนได้คุยกับตัวเอง แลกเปลี่ยนกับคนอื่นเพื่อที่จะได้มองเห็นและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน”


การเปิดหน้าร้านหนังสือเป็นพื้นที่การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ยังทำให้ป่านได้เรียนรู้ความต้องการที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลาของผู้เข้าร่วมงาน  

“เมื่อก่อนเรามีเวิร์กช็อปถี่มาก เยอะมาก เพราะตอนนั้นเรารู้สึกว่าคนต้องการจริงๆ แต่ตอนนี้คนไม่ได้ต้องการอะไรที่เยอะขนาดนั้นแล้ว เราก็ปรับลดลงมา และสร้างบรรยากาศให้มีความหลากหลายและง่ายมากขึ้น ทั้งวิธีการเล่าเรื่อง วิธีการคุยกัน ลดกระบวนการที่เป็นขั้นเป็นตอนลง เรารู้สึกว่าการคุยกันง่ายๆ มันก็มีประโยชน์ไปอีกแบบหนึ่ง อีกอันที่เป็นแพลนของปีนี้ที่จะสร้างขึ้นมาให้ได้คือ toolkit อย่างเช่นพวกเซ็ตการ์ดต่างๆ ที่คนสามารถเอาไว้คุยกับตัวเองได้ เพราะว่าหลังๆ มานี้คนต้องการเครื่องมือแบบนี้ที่สามารถเข้ามาใช้เรียนรู้ด้วยตัวเองในร้านได้หรือซื้อกลับไปเล่นเองที่บ้านได้ มันอาจจะยังไม่สมบูรณ์ แต่คิดว่าปีนี้จะลองทำดู”

“เผื่อว่าจะมีสักอย่างสักเครื่องมือหนึ่งที่จะคลิกกับแต่ละคนที่เข้ามาในร้าน” กุ๊กไก่เสริม “นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ปีนี้เราปิดร้านเพิ่ม เพราะเราต้องการเพิ่มเวลาให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ ต้องการเวลามาพักแป๊บนึงด้วยเพื่อที่จะได้คิดไอเดียใหม่ๆ ได้”



หน้าร้านหนังสือกับฟังก์ชั่นสำคัญที่ออนไลน์ให้ไม่ได้

“เราคิดว่าต่อให้ร้านเราเป็นร้านหนังสือธรรมดาที่ไม่ใช่พื้นที่เรียนรู้ เป็นร้านหนังสือเพียวๆ เลย มันก็ยังทำฟังก์ชั่นที่การซื้อหนังสือออนไลน์ให้ไม่ได้”

ป่านขยายความคำพูดของเธอเพิ่มเติมว่าเวลาคนซื้อหนังสือผ่านระบบออนไลน์ ก็มักจะเสิร์ชหาเล่มที่ตัวเองสนใจ คลิกลงตะกร้า และจ่ายเงินซื้อ แต่หากเข้าไปซื้อหนังสือในร้านหนังสือ หน้าร้านจะพาคนคนนั้นไปเจอหนังสือเล่มใหม่ๆ ที่เขาไม่คิดจะอ่านในตอนแรก หรือไปยังโลกอื่นๆ ที่เขาอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อนได้ 

“พี่โตมร (ศุขปรีชา) เคยพูดกับเราประโยคหนึ่งที่เรารู้สึกดีจังเลย นั่นก็คือ ‘ร้านหนังสือช่วยพาคนออกจากบับเบิลของตัวเอง’ เวลาเราอยู่ในโซเชียลมีเดีย เราจะอยู่ใน echo chamber ของตัวเอง แต่การมาหน้าร้านหนังสือมันไม่มี echo chamber อันนั้น หน้าร้านมันกระตุ้นให้เราก้าวออกมาโดยอัตโนมัติจากการได้เห็นความหลากหลายของหนังสือในร้าน”

นอกจากบรรยากาศและความหลากหลายของหนังสือในพื้นที่หน้าร้านแล้ว ‘เจ้าของร้าน’ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเปิดโลกใหม่ให้แก่ผู้อ่าน

“ป่านยังเชื่อว่าร้านหนังสือ โดยเฉพาะร้านหนังสืออิสระกำลังทำหน้าที่นี้อยู่ ผู้อ่านสามารถคุยเรื่องหนังสือกับเจ้าของร้านให้ช่วยแนะนำได้ เช่น ลูกค้าบางคนเข้ามาในร้านหนังสือแล้วบอกกับเจ้าของร้านว่าวันนี้คิดถึงบ้าน หรือวันนี้อกหักมา มีหนังสืออะไรแนะนำให้อ่านไหม โจทย์ของลูกค้าจะหลากหลายมาก แต่มันก็ทำให้เราได้คุยกัน ซึ่งมันก็จะเปิดโลกทั้งของเขาและของเราที่เป็นเจ้าของร้าน ได้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันด้วยในตัว ก็สนุกดี”

“บางทีลูกค้าอยากอ่านหนังสือที่ให้โทนสีส้มๆ ก็มี” กุ๊กไก่แชร์ประสบการณ์ของตัวเอง “และก็มีหลายครั้งมากๆ ที่ลูกค้าอินบ็อกซ์มาบอกเราว่าอยากได้เล่มนี้มาก เดี๋ยวไปรับที่ร้านนะ แต่พอมาถึงหน้าร้านจริงๆ ก็มีอันนี้ อันนั้น อันโน้นให้ดูไปเรื่อยๆ จนไม่ได้ซื้อเล่มที่เขาอยากได้เล่มแรกจริงๆ แต่ซื้อเล่มอื่นที่มาเจอหน้าร้านไปแทน ยิ่งมาเจอเจ้าของร้านด้วย บทสนทนามันก็ไหลไปเรื่อยๆ ความต้องการลึกๆ มันก็ถูกดึงออกมา มันก็เกิดการแนะนำกันเพิ่มขึ้น ป้ายยากันไปเรื่อยๆ” 

ที่ Fathom Bookspace สเปซของหน้าร้านได้รับการจัดสรรให้เป็นพื้นที่ของนักอ่านอย่างแท้จริง

“นอกจากฟังก์ชั่นต่างๆ ของความเป็นร้านหนังสือที่พูดไปแล้ว อีกสิ่งที่เราพยายามทำคือการสร้าง ‘ประสบการณ์’ ให้คนอ่านเข้ามาแล้วรู้สึกว่านี่เป็นพื้นที่ของเขา เป็นพื้นที่ของนักอ่าน เช่น เราวางกล่องเล็กๆ ไว้ตามมุมต่างๆ ของร้านให้คนที่อ่านอะไรมาแล้วชอบไปเขียนรีวิวใส่ไว้ได้ หรือมีโต๊ะเล็กๆ ไว้สำหรับให้เขียน ตกแต่ง หรือปั๊มอะไรเล่นๆ บนหนังสือที่ซื้อแล้วก็ได้”

ป่านยังเล่าเพิ่มเติมอีกว่าพื้นที่บนชั้นลอยที่เรานั่งสัมภาษณ์กันอยู่นี้ก็จัดสรรไว้สำหรับนักอ่านที่เข้ามาในร้านด้วยเช่นกัน

“หนังสือบนชั้นลอยนี้เป็นของสะสมของพวกเราเอง ไม่ได้ขาย แต่ผู้อ่านก็สามารถมากลิ้งเล่นตรงนี้ มานั่งอ่านนอนอ่านหนังสือ ซื้อเครื่องดื่มขึ้นมาจิบ และถ้าเป็นสมาชิกร้าน ก็สามารถยืมหนังสือบนชั้นลอยกลับบ้านได้ด้วย”

“ชื่อร้านเราใช้คำว่า ‘Bookspace’ เพราะเราอยากให้คนเข้ามาในร้านแล้วรู้สึกได้พัก มีแรงกลับคืนมา” กุ๊กไก่เสริม “บางคนที่ไม่เคยอ่านหนังสือเลย มากลิ้งๆ นอนๆ บนชั้นลอย ก็มีโอกาสได้หยิบ จับ เปิด ดูหนังสือ เรารู้สึกว่าร้านเรามันเป็นพื้นที่แบบนี้แหละ พื้นที่ที่คนได้มาพักแป๊บนึงให้รู้สึกมีเรี่ยวแรง เหมือนได้กลับมาบ้าน เพราะทุกคนเข้ามาแล้วก็จะรู้สึกเหมือนมาบ้านเพื่อน”

“เข้ามาแล้วรู้สึกสบายๆ จะใส่ชุดนอนมาร้านก็ได้ เราไม่ติด” ป่านกล่าวอย่างจริงจัง “เราไม่ได้รู้สึกว่าร้านเราต้องเป็นที่เช็กอินเก๋ๆ ต้องแต่งตัวดีๆ มา อยากให้ดูธรรมดา แต่มาแล้วสบายใจ”


ร้านหนังสืออิสระในฐานะผู้สร้างความหลากหลาย

“ร้านหนังสือยังจำเป็นต่อโลกใบนี้ไหม มันแล้วแต่คนจะมอง แต่สำหรับเราที่เปิดร้านหนังสือ เรามองว่าการมีร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ช่วยให้เนื้อหาทุกแบบมีที่อยู่ ทำให้คนอ่านมีทางเลือกที่หลากหลาย”

แม้ทำธุรกิจร้านหนังสืออิสระ แต่ป่านไม่ได้มองว่าการมีร้านหนังสืออิสระเพิ่มขึ้นคือการมีจำนวนคู่แข่งทางธุรกิจที่มากขึ้น ในทางตรงกันข้าม เธอมองว่ายิ่งมีร้านหนังสืออิสระมากขึ้นเท่าไร ยิ่งสร้างโอกาสที่ดีให้กับวัฒนธรรมการอ่านเพิ่มขึ้นไปด้วย

“เวลาเราไปเที่ยวต่างประเทศ เราสามารถเข้าร้านนู้นออกร้านนี้ได้เรื่อยๆ เหมือนเข้าคาเฟ่ ร้านแรกขายแต่แมกกาซีนอย่างเดียวเลย มันก็ทำให้เรารู้ว่าโลกนี้ยังมีพื้นที่ให้แมกกาซีนอยู่ได้ ไปต่อร้านที่สองก็ขายแต่หนังสือที่นักเขียนเป็นผู้หญิง ออกไปร้านถัดไป ก็เจอหนังสือที่เกี่ยวกับอาหาร มันน่าสนุกมากๆ พอไปร้านเฉพาะทางแบบนั้น เราก็ได้ลงลึกในประเด็นบางอย่างไปด้วย” 

“ร้านหนังสืออิสระแต่ละร้านมีความเฉพาะทางแตกต่างหลากหลายกันไป ซึ่งมันก็สอดคล้องกับความชอบของคนเราที่ไม่เหมือนกัน” กุ๊กไก่เสริม “ถ้าเราชอบสไตล์นี้ มันก็ดีจังเลยที่มีร้านหนังสืออิสระสไตล์นี้ให้เราได้พบ ให้เราได้ลองเข้าไปสำรวจ หากมันมีร้านหนังสือผูกขาดอยู่แบบเดียว คนอ่านก็ไม่มีทางเลือก แต่ถ้ามันมีร้านหนังสืออิสระหลายๆ ร้าน มันก็น่าสนุก มันมีความหลากหลายให้ได้รู้สึกว่า เออ มันมีแบบนี้ได้ด้วยนะ ทำให้เราได้สัมผัสประสบการณ์แบบอื่นๆ บ้าง นอกเหนือจากฟีลที่เราชอบด้วย” 

หนังสือในร้าน Fathom Bookspace คัดสรรจากความชอบและความสนใจของป่านและกุ๊กไก่ ในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถตอบโจทย์ความตั้งใจของร้านที่ต้องการกระตุ้นให้คนได้เรียนรู้และเข้าใจตัวเอง คนอื่น และสังคมโลกในภาพรวมด้วย แต่สิ่งที่ทำให้ร้านนี้แตกต่างไปจากร้านหนังสืออิสระร้านอื่นๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว นั่นก็คือ ‘หนังสือภาพ’ 

“หนังสือภาพจำนวนหนึ่งเลยพูดถึงเรื่องยากๆ ที่บางทีผู้ใหญ่คุยกับเด็กไม่ได้ หรือเรื่องที่เด็กไม่สามารถอธิบายความต้องการของตัวเองออกมาเป็นคำพูดได้ หนังสือภาพมันช่วยสื่อสารเรื่องแบบนี้ได้ดี” 

กุ๊กไก่อธิบายความสำคัญของหนังสือภาพ ซึ่งเธอใช้ประกอบการทำงานของเธอในอีกบทบาทหนึ่งด้วย นั่นก็คือนักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ หรือ Learning Designer โดยกุ๊กไก่ใช้หนังสือภาพหลากหลายรูปแบบในการทำเวิร์กช็อปต่างๆ ตามโรงเรียนที่มีทั้งพ่อแม่ ครู และนักเรียนประถมเข้าร่วม

“เราเห็นจากประสบการณ์จริงว่าหนังสือภาพมันช่วยเด็กๆ ช่วยพ่อแม่ได้ เราก็เลยเอาเข้ามาไว้ในร้านด้วย” ป่านเสริม


การเข้าถึงหนังสือที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมการอ่านในอนาคต

“เราไม่เชื่อว่าคนจะอ่านหนังสือน้อยลงหรือไม่อ่านหนังสือเลย แต่พฤติกรรมการอ่านอาจจะเปลี่ยนไป และเนื้อหาที่อ่านก็เปลี่ยนแน่นอน เพราะงานเขียนมันเปลี่ยน โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว”

ป่านตั้งข้อสังเกตต่อวัฒนธรรมการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันและอาจจะส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงอนาคต จากประสบการณ์ของเธอ คนมีเวลาให้กับการอ่านน้อยลงและอ่านงานเขียนที่สั้นมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากสภาพร่างกายหรือประสบการณ์บางอย่างทำให้เริ่มอ่านน้อยลง รวมถึงไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ที่ในหนึ่งวันมีกิจกรรมให้ทำหลากหลายอย่างนอกจากการอ่านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนังหรือซีรีส์ การออกกำลังกาย หรือการออกไปท่องเที่ยวเช็กอินตามสถานที่ต่างๆ 

ในขณะเดียวกัน ป่านสังเกตเห็นว่าคนรุ่นใหม่มีรูปแบบการอ่านหนังสือที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นนิยายออนไลน์ แฟนฟิค หรืองานเขียนแนวอื่นๆ ที่มีเนื้อหาแตกต่างไปจากยุคก่อน และอาจหาไม่ได้ตามร้านหนังสืออิสระเช่นร้านของเธอ 

“เราเพิ่งไปทำเวิร์กช็อปการอ่านกับเด็กๆ ประถมที่สงขลาและสตูลมา เราพบว่าเด็กทุกคน ไม่มีคนไหนไม่ชอบอ่านหนังสือหรอก” ป่านเล่าประสบการณ์จากการลงพื้นที่ของตัวเอง “เขาแค่ไม่เคยเจอหนังสือที่จะทำให้เขาสนใจได้ ไม่เคยเจอหนังสือที่เขาจะรู้สึกว่าอ่านแล้วเป็นเหมือนเพื่อนของเขา อ่านแล้วรู้สึกตื่นเต้น”

“หรือไม่มีคนที่แนะนำหรือไกด์ได้ว่า หนังสือที่ตั้งอยู่ตรงนั้นคืออะไร น่าสนุกยังไง” กุ๊กไก่เสริม

ปัญหาที่แท้จริงที่ทั้งสองตกตะกอนได้จากการเวิร์กช็อปคือ ‘การเข้าถึงหนังสือ’

“สมมติว่าผ่านไป 3 เดือน เด็กๆ อ่านหนังสือที่เราเอาไปทำกิจกรรมจบแล้ว เขาจะอ่านอะไรต่อ พ่อแม่ของเขาซัพพอร์ตได้หรือเปล่า มันคือเรื่องของสถานะทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ว่าทุกครอบครัวจะมีกำลังจ่ายในการซื้อหนังสือ” ป่านแสดงความคิดเห็น “และพอเราไปเห็นห้องสมุดของโรงเรียนหรือห้องสมุดสาธารณะหลายๆ แห่ง เราเจอแต่หนังสือเก่า แทบไม่มีอะไรใหม่ๆ เข้ามาเลย ในขณะที่เพื่อนของเราที่อยู่ที่เยอรมนีบอกว่าห้องสมุดสาธารณะของที่นั่นมีแต่หนังสือใหม่ทั้งหมด ใหม่ในเลเวลที่มีฉบับพิมพ์ล่าสุดให้อ่าน จนเราต้องบอกเพื่อนว่าช่วยไปสืบให้หน่อยว่าเขาทำยังไงให้มีหนังสือใหม่อยู่ตลอด”

ป่านยังยกตัวอย่างประสบการณ์ของเพื่อนตัวเองที่ทำงานด้านชุมชนในจังหวัดเชียงรายที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการเข้าถึงหนังสือของคนไทย

“เขาลงชุมชนเพื่อไปศึกษาเรื่องการเรียนรู้ เรื่องพัฒนาการเด็ก แล้วพบว่าไม่มีบ้านไหนเลยสักหลังเดียวใน 50 หลังคาเรือนที่มีหนังสือแม้แต่เล่มเดียวติดบ้าน ยิ่งไปกว่านั้นคือทั้งจังหวัดหาสถานที่ที่จะอ่านหนังสือยากมากๆ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดหรือร้านหนังสือ แล้วถามว่าพ่อแม่ที่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ หรือต้องทำไร่ทำสวน จะมีสักกี่คนที่จะสามารถพาลูกเดินทางดั้นด้นเพื่อเข้าถึงหนังสือได้ ที่มีคนบอกว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือ มันเป็นเพราะมันไม่มีให้เขาอ่าน เขาเข้าไม่ถึงหนังสือ” 

“มันต้องเกิดจากการคิดอย่างเป็นระบบว่าจะทำยังไงให้คนเข้าถึงหนังสือได้ และต่อยอดไปอีกว่าจะทำยังไงให้เกิดความหลากหลายของหนังสือ ถ้ามีหนังสือใหม่เพิ่มขึ้นมา จะจัดการกับหนังสือเก่ายังไง ไม่ใช่คิดแค่ว่าจะสร้างห้องสมุด แต่วิธีการจัดการหนังสือคือให้คนเอาหนังสือมาบริจาค กลายเป็นว่ามีแต่หนังสือธรรมมะ หรือหนังสือเก่าสภาพไม่ได้แล้ว” กุ๊กไก่เสริม

“เราเชื่อว่าถ้ามีหนังสือให้อ่านอย่างหลากหลาย คนก็อ่าน หนังสือมันสนุก” ป่านปิดท้าย


“เราตั้งใจที่จะทำร้านให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ ให้คนได้รู้จักตัวเอง เข้าใจคนอื่น และมองเห็นความเป็นไปของสังคมโลกมากขึ้น”

วันสุดท้ายของการทำงานในสัปดาห์ เราเดินฝ่าแสงแดดช่วงบ่ายจาก MRT ลุมพินี มุ่งหน้าสู่สาทร ซอย 3 หรือซอยสวนพลู เพื่อไปเยือนร้าน Fathom Bookspace เมื่อก้าวเข้าภายในตัวร้าน ความหงุดหงิดและเหนื่อยล้าจากอากาศร้อนๆ ก็มลายหายสิ้นไปหมด ความโล่งโปร่งสบายของการตกแต่งร้าน ที่หันมองไปทางไหนก็ให้ความรู้สึกเย็นตาสบายใจ ช่วยให้ทั้งร่างกายและอารมณ์ความรู้สึกได้ผ่อนคลายอย่างช้าๆ

เมื่อเอเนอร์จี้กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว เราจึงเริ่มเดินสำรวจบริเวณหน้าร้านแห่งนี้ที่เรียงรายไปด้วยเชลฟ์หนังสือขนาดเล็กใหญ่สลับกันไป ตรงกลางมีโต๊ะขนาดย่อมตั้งอยู่ ทั้งหมดอัดแน่นไปด้วยหนังสือนานาประเภท ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายไทย ต่างประเทศ และฉบับแปล หนังสือเด็ก หนังสือภาพ อีกทั้งยังมีวรรณกรรมวิทยาศาสตร์ การเมือง และจิตวิญญาณ (Spiritual) รวมไปถึงแมกกาซีนธีมต่างๆ ซีน และไกด์บุ๊กนำเที่ยวด้วย 

หลังจากเพลิดเพลินกับการสอดส่องงานเขียนหลากหลายแนวอยู่พักใหญ่ สองเจ้าของร้าน ได้แก่ ป่าน-ภัทรอนงค์ สิรีพิพัฒน์ และ กุ๊กไก่-ขนิษฐา ธรรมปัญญา ก็ชักชวนเราขึ้นไปพูดคุยบนชั้นลอย ที่ให้ความรู้สึกเหมือนมานั่งชิลล์ในห้องนั่งเล่นบ้านเพื่อนที่ละลานตาไปด้วยหนังสือมากมายที่สะสมไว้เต็มชั้นหนังสือ

“มันมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียด ผู้คนต่างแสดงจุดยืนต่างๆ นานา ซึ่งเมื่อเกือบ 8 ปีก่อน มันเป็นช่วงเวลาที่คนพูดทุกอย่างผ่านโซเชียลมีเดีย พูดอะไรก็ได้ ด่าใครก็ได้ คอมเมนต์อะไรก็ได้ เราก็รู้สึกว่าทำไมคนใจร้ายกันจังเลย เราเลยอยากให้คน ‘น่ารัก’ ต่อกัน ถ้าคนเรามีโอกาสได้เจอกัน ทำความรู้จักกันเพื่อเข้าใจกันมากกว่านี้ ก็น่าจะมีทางออกต่อเรื่องต่างๆ ที่ดีกว่านี้

ป่านเล่าถึงแรงบันดาลใจที่จุดประกายให้ทั้งเธอและกุ๊กไก่เปิดร้านหนังสือแห่งนี้ ซึ่งไม่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อการขายหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้เป็น ‘พื้นที่เรียนรู้’ ดังที่เกริ่นไปตอนต้น โดยใช้เครื่องมือหลัก 4 ประการ ได้แก่ หนังสือ ศิลปะ กระบวนการเรียนรู้ และผู้คน เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนที่เข้ามาในร้านได้รู้จักและเข้าใจตัวเอง ผู้อื่น และโลกมากยิ่งขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

“ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมต้องเป็นซอยสวนพลู เรามองว่าถ้าจะทำงานด้านการเรียนรู้ เราอยากอยู่ในชุมชนที่มีผู้คนหลากหลาย พื้นที่ตรงนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมือง นั่งรถไฟฟ้ามาไม่ลำบาก ผู้คนเดินทางเข้าถึงเราได้ไม่ยาก และละแวกนี้ก็มีทั้งนักศึกษาวิทยาลัย พนักงานออฟฟิศ ชาวบ้านที่ค้าขายในตลาด และผู้อยู่อาศัยในคอนโด เราก็รู้สึกว่ามันมีความหลากหลายของผู้คน ก็น่าจะเป็นพื้นที่ที่ดี” 



สร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านหน้าร้านหนังสือ

“ช่วงแรกๆ เราเปลี่ยนธีมร้านทุก 2 เดือน”

ธีมที่กุ๊กไก่พูดถึงนั้นคือประเด็นหลักในภาพรวมที่ทางร้านต้องการชวนคุย และแตกออกมาเป็นกิจกรรมย่อยที่ไม่เหมือนกันในแต่ละสัปดาห์ เช่น นิทรรศการที่ผู้ชมสามารถอินเทอร์แอ็กหรือร่วมเล่นสนุกได้ เสวนา เวิร์กช็อป การแนะนำหนังสือในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการแสดงละครที่มีแก่นเรื่องสอดคล้องกับธีมหลัก

อย่างไรก็ตามการดำเนินงานภายใต้คอนเซปต์นี้ก็ถึงจุดเปลี่ยนเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคโควิด

“กลายเป็นว่าคนไม่ได้มาหน้าร้านในช่วงโควิด เราก็เลยเริ่มขายหนังสือออนไลน์ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าโควิด เราไม่ได้ขายออนไลน์เลย” ป่านเล่าย้อนไปยังการตัดสินใจของร้านในครั้งนั้น “พอสถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว มันก็กลายเป็นว่างานออนไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งงานที่ต้องทำในตอนนี้เหมือนกัน ปีนี้เราเลยเปลี่ยนมาลดจำนวนการเปิดหน้าร้าน เพื่อโฟกัสให้ดีขึ้นทั้ง 2 อย่าง ออนไลน์เราคิดว่ายังจำเป็น ส่วนหน้าร้านก็อยากจะโฟกัสให้ดี เลยคิดว่าถ้างั้นเราทำเท่าที่เรามีแรงทำ อย่างตอนนี้ก็จัดกิจกรรมเดือนละ 2 หนเป็นอย่างน้อย”

ปัจจุบัน Fathom Bookspace เปิดหน้าร้านเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ ตั้งแต่วันศุกร์ถึงวันจันทร์ อีก 3 วันที่เหลือในช่วงกลางสัปดาห์นั้นจะอุทิศให้กับการจัดการในพาร์ตออนไลน์และส่วนอื่นๆ ของร้าน ส่วนการจัดธีมร้านทุกๆ 2 เดือนและสอดแทรกกิจกรรมทุกสัปดาห์นั้นก็เปลี่ยนมาเป็นการจัดกิจกรรมเดือนละ 2 ครั้งแทน แต่อาจจะปรับเสริมจำนวนได้มากกว่านี้ในแต่ละเดือน หากทั้งป่านและกุ๊กไก่ปิ๊งไอเดียที่น่าสนใจจากการพูดคุยกับบุคคลต่างๆ ที่พวกเธอได้มีโอกาสพบเจอและต่อยอดเป็นกิจกรรมเพิ่มเติมสนุกๆ 

“นี่คือเป้าหมายของปีนี้ที่จะต้องทำให้ได้” ป่านตั้งปณิธาน

“ส่วนกระบวนการเรียนรู้ในปีนี้ก็จะได้รับการออกแบบใหม่ นอกจากนิทรรศการและเวิร์กช็อปที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอใหม่ๆ แล้ว เราอาจจะเพิ่มเครื่องมืออื่นๆ เข้ามาด้วย เพราะเราคิดว่าคนอาจจะต้องการวิธีที่จะทำความรู้จักตัวเองแตกต่างกันไป บางคนอ่านหนังสือแล้วรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเอง บางคนบอกว่าวาดรูปแล้วช่วยได้ บางคนบอกว่าเล่นโยคะถึงจะช่วย เราก็จะเสริมเครื่องมือเหล่านี้เพื่อทำให้คนได้คุยกับตัวเอง แลกเปลี่ยนกับคนอื่นเพื่อที่จะได้มองเห็นและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน”


การเปิดหน้าร้านหนังสือเป็นพื้นที่การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ยังทำให้ป่านได้เรียนรู้ความต้องการที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลาของผู้เข้าร่วมงาน  

“เมื่อก่อนเรามีเวิร์กช็อปถี่มาก เยอะมาก เพราะตอนนั้นเรารู้สึกว่าคนต้องการจริงๆ แต่ตอนนี้คนไม่ได้ต้องการอะไรที่เยอะขนาดนั้นแล้ว เราก็ปรับลดลงมา และสร้างบรรยากาศให้มีความหลากหลายและง่ายมากขึ้น ทั้งวิธีการเล่าเรื่อง วิธีการคุยกัน ลดกระบวนการที่เป็นขั้นเป็นตอนลง เรารู้สึกว่าการคุยกันง่ายๆ มันก็มีประโยชน์ไปอีกแบบหนึ่ง อีกอันที่เป็นแพลนของปีนี้ที่จะสร้างขึ้นมาให้ได้คือ toolkit อย่างเช่นพวกเซ็ตการ์ดต่างๆ ที่คนสามารถเอาไว้คุยกับตัวเองได้ เพราะว่าหลังๆ มานี้คนต้องการเครื่องมือแบบนี้ที่สามารถเข้ามาใช้เรียนรู้ด้วยตัวเองในร้านได้หรือซื้อกลับไปเล่นเองที่บ้านได้ มันอาจจะยังไม่สมบูรณ์ แต่คิดว่าปีนี้จะลองทำดู”

“เผื่อว่าจะมีสักอย่างสักเครื่องมือหนึ่งที่จะคลิกกับแต่ละคนที่เข้ามาในร้าน” กุ๊กไก่เสริม “นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ปีนี้เราปิดร้านเพิ่ม เพราะเราต้องการเพิ่มเวลาให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ ต้องการเวลามาพักแป๊บนึงด้วยเพื่อที่จะได้คิดไอเดียใหม่ๆ ได้”



หน้าร้านหนังสือกับฟังก์ชั่นสำคัญที่ออนไลน์ให้ไม่ได้

“เราคิดว่าต่อให้ร้านเราเป็นร้านหนังสือธรรมดาที่ไม่ใช่พื้นที่เรียนรู้ เป็นร้านหนังสือเพียวๆ เลย มันก็ยังทำฟังก์ชั่นที่การซื้อหนังสือออนไลน์ให้ไม่ได้”

ป่านขยายความคำพูดของเธอเพิ่มเติมว่าเวลาคนซื้อหนังสือผ่านระบบออนไลน์ ก็มักจะเสิร์ชหาเล่มที่ตัวเองสนใจ คลิกลงตะกร้า และจ่ายเงินซื้อ แต่หากเข้าไปซื้อหนังสือในร้านหนังสือ หน้าร้านจะพาคนคนนั้นไปเจอหนังสือเล่มใหม่ๆ ที่เขาไม่คิดจะอ่านในตอนแรก หรือไปยังโลกอื่นๆ ที่เขาอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อนได้ 

“พี่โตมร (ศุขปรีชา) เคยพูดกับเราประโยคหนึ่งที่เรารู้สึกดีจังเลย นั่นก็คือ ‘ร้านหนังสือช่วยพาคนออกจากบับเบิลของตัวเอง’ เวลาเราอยู่ในโซเชียลมีเดีย เราจะอยู่ใน echo chamber ของตัวเอง แต่การมาหน้าร้านหนังสือมันไม่มี echo chamber อันนั้น หน้าร้านมันกระตุ้นให้เราก้าวออกมาโดยอัตโนมัติจากการได้เห็นความหลากหลายของหนังสือในร้าน”

นอกจากบรรยากาศและความหลากหลายของหนังสือในพื้นที่หน้าร้านแล้ว ‘เจ้าของร้าน’ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเปิดโลกใหม่ให้แก่ผู้อ่าน

“ป่านยังเชื่อว่าร้านหนังสือ โดยเฉพาะร้านหนังสืออิสระกำลังทำหน้าที่นี้อยู่ ผู้อ่านสามารถคุยเรื่องหนังสือกับเจ้าของร้านให้ช่วยแนะนำได้ เช่น ลูกค้าบางคนเข้ามาในร้านหนังสือแล้วบอกกับเจ้าของร้านว่าวันนี้คิดถึงบ้าน หรือวันนี้อกหักมา มีหนังสืออะไรแนะนำให้อ่านไหม โจทย์ของลูกค้าจะหลากหลายมาก แต่มันก็ทำให้เราได้คุยกัน ซึ่งมันก็จะเปิดโลกทั้งของเขาและของเราที่เป็นเจ้าของร้าน ได้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันด้วยในตัว ก็สนุกดี”

“บางทีลูกค้าอยากอ่านหนังสือที่ให้โทนสีส้มๆ ก็มี” กุ๊กไก่แชร์ประสบการณ์ของตัวเอง “และก็มีหลายครั้งมากๆ ที่ลูกค้าอินบ็อกซ์มาบอกเราว่าอยากได้เล่มนี้มาก เดี๋ยวไปรับที่ร้านนะ แต่พอมาถึงหน้าร้านจริงๆ ก็มีอันนี้ อันนั้น อันโน้นให้ดูไปเรื่อยๆ จนไม่ได้ซื้อเล่มที่เขาอยากได้เล่มแรกจริงๆ แต่ซื้อเล่มอื่นที่มาเจอหน้าร้านไปแทน ยิ่งมาเจอเจ้าของร้านด้วย บทสนทนามันก็ไหลไปเรื่อยๆ ความต้องการลึกๆ มันก็ถูกดึงออกมา มันก็เกิดการแนะนำกันเพิ่มขึ้น ป้ายยากันไปเรื่อยๆ” 

ที่ Fathom Bookspace สเปซของหน้าร้านได้รับการจัดสรรให้เป็นพื้นที่ของนักอ่านอย่างแท้จริง

“นอกจากฟังก์ชั่นต่างๆ ของความเป็นร้านหนังสือที่พูดไปแล้ว อีกสิ่งที่เราพยายามทำคือการสร้าง ‘ประสบการณ์’ ให้คนอ่านเข้ามาแล้วรู้สึกว่านี่เป็นพื้นที่ของเขา เป็นพื้นที่ของนักอ่าน เช่น เราวางกล่องเล็กๆ ไว้ตามมุมต่างๆ ของร้านให้คนที่อ่านอะไรมาแล้วชอบไปเขียนรีวิวใส่ไว้ได้ หรือมีโต๊ะเล็กๆ ไว้สำหรับให้เขียน ตกแต่ง หรือปั๊มอะไรเล่นๆ บนหนังสือที่ซื้อแล้วก็ได้”

ป่านยังเล่าเพิ่มเติมอีกว่าพื้นที่บนชั้นลอยที่เรานั่งสัมภาษณ์กันอยู่นี้ก็จัดสรรไว้สำหรับนักอ่านที่เข้ามาในร้านด้วยเช่นกัน

“หนังสือบนชั้นลอยนี้เป็นของสะสมของพวกเราเอง ไม่ได้ขาย แต่ผู้อ่านก็สามารถมากลิ้งเล่นตรงนี้ มานั่งอ่านนอนอ่านหนังสือ ซื้อเครื่องดื่มขึ้นมาจิบ และถ้าเป็นสมาชิกร้าน ก็สามารถยืมหนังสือบนชั้นลอยกลับบ้านได้ด้วย”

“ชื่อร้านเราใช้คำว่า ‘Bookspace’ เพราะเราอยากให้คนเข้ามาในร้านแล้วรู้สึกได้พัก มีแรงกลับคืนมา” กุ๊กไก่เสริม “บางคนที่ไม่เคยอ่านหนังสือเลย มากลิ้งๆ นอนๆ บนชั้นลอย ก็มีโอกาสได้หยิบ จับ เปิด ดูหนังสือ เรารู้สึกว่าร้านเรามันเป็นพื้นที่แบบนี้แหละ พื้นที่ที่คนได้มาพักแป๊บนึงให้รู้สึกมีเรี่ยวแรง เหมือนได้กลับมาบ้าน เพราะทุกคนเข้ามาแล้วก็จะรู้สึกเหมือนมาบ้านเพื่อน”

“เข้ามาแล้วรู้สึกสบายๆ จะใส่ชุดนอนมาร้านก็ได้ เราไม่ติด” ป่านกล่าวอย่างจริงจัง “เราไม่ได้รู้สึกว่าร้านเราต้องเป็นที่เช็กอินเก๋ๆ ต้องแต่งตัวดีๆ มา อยากให้ดูธรรมดา แต่มาแล้วสบายใจ”


ร้านหนังสืออิสระในฐานะผู้สร้างความหลากหลาย

“ร้านหนังสือยังจำเป็นต่อโลกใบนี้ไหม มันแล้วแต่คนจะมอง แต่สำหรับเราที่เปิดร้านหนังสือ เรามองว่าการมีร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ช่วยให้เนื้อหาทุกแบบมีที่อยู่ ทำให้คนอ่านมีทางเลือกที่หลากหลาย”

แม้ทำธุรกิจร้านหนังสืออิสระ แต่ป่านไม่ได้มองว่าการมีร้านหนังสืออิสระเพิ่มขึ้นคือการมีจำนวนคู่แข่งทางธุรกิจที่มากขึ้น ในทางตรงกันข้าม เธอมองว่ายิ่งมีร้านหนังสืออิสระมากขึ้นเท่าไร ยิ่งสร้างโอกาสที่ดีให้กับวัฒนธรรมการอ่านเพิ่มขึ้นไปด้วย

“เวลาเราไปเที่ยวต่างประเทศ เราสามารถเข้าร้านนู้นออกร้านนี้ได้เรื่อยๆ เหมือนเข้าคาเฟ่ ร้านแรกขายแต่แมกกาซีนอย่างเดียวเลย มันก็ทำให้เรารู้ว่าโลกนี้ยังมีพื้นที่ให้แมกกาซีนอยู่ได้ ไปต่อร้านที่สองก็ขายแต่หนังสือที่นักเขียนเป็นผู้หญิง ออกไปร้านถัดไป ก็เจอหนังสือที่เกี่ยวกับอาหาร มันน่าสนุกมากๆ พอไปร้านเฉพาะทางแบบนั้น เราก็ได้ลงลึกในประเด็นบางอย่างไปด้วย” 

“ร้านหนังสืออิสระแต่ละร้านมีความเฉพาะทางแตกต่างหลากหลายกันไป ซึ่งมันก็สอดคล้องกับความชอบของคนเราที่ไม่เหมือนกัน” กุ๊กไก่เสริม “ถ้าเราชอบสไตล์นี้ มันก็ดีจังเลยที่มีร้านหนังสืออิสระสไตล์นี้ให้เราได้พบ ให้เราได้ลองเข้าไปสำรวจ หากมันมีร้านหนังสือผูกขาดอยู่แบบเดียว คนอ่านก็ไม่มีทางเลือก แต่ถ้ามันมีร้านหนังสืออิสระหลายๆ ร้าน มันก็น่าสนุก มันมีความหลากหลายให้ได้รู้สึกว่า เออ มันมีแบบนี้ได้ด้วยนะ ทำให้เราได้สัมผัสประสบการณ์แบบอื่นๆ บ้าง นอกเหนือจากฟีลที่เราชอบด้วย” 

หนังสือในร้าน Fathom Bookspace คัดสรรจากความชอบและความสนใจของป่านและกุ๊กไก่ ในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถตอบโจทย์ความตั้งใจของร้านที่ต้องการกระตุ้นให้คนได้เรียนรู้และเข้าใจตัวเอง คนอื่น และสังคมโลกในภาพรวมด้วย แต่สิ่งที่ทำให้ร้านนี้แตกต่างไปจากร้านหนังสืออิสระร้านอื่นๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว นั่นก็คือ ‘หนังสือภาพ’ 

“หนังสือภาพจำนวนหนึ่งเลยพูดถึงเรื่องยากๆ ที่บางทีผู้ใหญ่คุยกับเด็กไม่ได้ หรือเรื่องที่เด็กไม่สามารถอธิบายความต้องการของตัวเองออกมาเป็นคำพูดได้ หนังสือภาพมันช่วยสื่อสารเรื่องแบบนี้ได้ดี” 

กุ๊กไก่อธิบายความสำคัญของหนังสือภาพ ซึ่งเธอใช้ประกอบการทำงานของเธอในอีกบทบาทหนึ่งด้วย นั่นก็คือนักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ หรือ Learning Designer โดยกุ๊กไก่ใช้หนังสือภาพหลากหลายรูปแบบในการทำเวิร์กช็อปต่างๆ ตามโรงเรียนที่มีทั้งพ่อแม่ ครู และนักเรียนประถมเข้าร่วม

“เราเห็นจากประสบการณ์จริงว่าหนังสือภาพมันช่วยเด็กๆ ช่วยพ่อแม่ได้ เราก็เลยเอาเข้ามาไว้ในร้านด้วย” ป่านเสริม


การเข้าถึงหนังสือที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมการอ่านในอนาคต

“เราไม่เชื่อว่าคนจะอ่านหนังสือน้อยลงหรือไม่อ่านหนังสือเลย แต่พฤติกรรมการอ่านอาจจะเปลี่ยนไป และเนื้อหาที่อ่านก็เปลี่ยนแน่นอน เพราะงานเขียนมันเปลี่ยน โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว”

ป่านตั้งข้อสังเกตต่อวัฒนธรรมการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันและอาจจะส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงอนาคต จากประสบการณ์ของเธอ คนมีเวลาให้กับการอ่านน้อยลงและอ่านงานเขียนที่สั้นมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากสภาพร่างกายหรือประสบการณ์บางอย่างทำให้เริ่มอ่านน้อยลง รวมถึงไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ที่ในหนึ่งวันมีกิจกรรมให้ทำหลากหลายอย่างนอกจากการอ่านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนังหรือซีรีส์ การออกกำลังกาย หรือการออกไปท่องเที่ยวเช็กอินตามสถานที่ต่างๆ 

ในขณะเดียวกัน ป่านสังเกตเห็นว่าคนรุ่นใหม่มีรูปแบบการอ่านหนังสือที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นนิยายออนไลน์ แฟนฟิค หรืองานเขียนแนวอื่นๆ ที่มีเนื้อหาแตกต่างไปจากยุคก่อน และอาจหาไม่ได้ตามร้านหนังสืออิสระเช่นร้านของเธอ 

“เราเพิ่งไปทำเวิร์กช็อปการอ่านกับเด็กๆ ประถมที่สงขลาและสตูลมา เราพบว่าเด็กทุกคน ไม่มีคนไหนไม่ชอบอ่านหนังสือหรอก” ป่านเล่าประสบการณ์จากการลงพื้นที่ของตัวเอง “เขาแค่ไม่เคยเจอหนังสือที่จะทำให้เขาสนใจได้ ไม่เคยเจอหนังสือที่เขาจะรู้สึกว่าอ่านแล้วเป็นเหมือนเพื่อนของเขา อ่านแล้วรู้สึกตื่นเต้น”

“หรือไม่มีคนที่แนะนำหรือไกด์ได้ว่า หนังสือที่ตั้งอยู่ตรงนั้นคืออะไร น่าสนุกยังไง” กุ๊กไก่เสริม

ปัญหาที่แท้จริงที่ทั้งสองตกตะกอนได้จากการเวิร์กช็อปคือ ‘การเข้าถึงหนังสือ’

“สมมติว่าผ่านไป 3 เดือน เด็กๆ อ่านหนังสือที่เราเอาไปทำกิจกรรมจบแล้ว เขาจะอ่านอะไรต่อ พ่อแม่ของเขาซัพพอร์ตได้หรือเปล่า มันคือเรื่องของสถานะทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ว่าทุกครอบครัวจะมีกำลังจ่ายในการซื้อหนังสือ” ป่านแสดงความคิดเห็น “และพอเราไปเห็นห้องสมุดของโรงเรียนหรือห้องสมุดสาธารณะหลายๆ แห่ง เราเจอแต่หนังสือเก่า แทบไม่มีอะไรใหม่ๆ เข้ามาเลย ในขณะที่เพื่อนของเราที่อยู่ที่เยอรมนีบอกว่าห้องสมุดสาธารณะของที่นั่นมีแต่หนังสือใหม่ทั้งหมด ใหม่ในเลเวลที่มีฉบับพิมพ์ล่าสุดให้อ่าน จนเราต้องบอกเพื่อนว่าช่วยไปสืบให้หน่อยว่าเขาทำยังไงให้มีหนังสือใหม่อยู่ตลอด”

ป่านยังยกตัวอย่างประสบการณ์ของเพื่อนตัวเองที่ทำงานด้านชุมชนในจังหวัดเชียงรายที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการเข้าถึงหนังสือของคนไทย

“เขาลงชุมชนเพื่อไปศึกษาเรื่องการเรียนรู้ เรื่องพัฒนาการเด็ก แล้วพบว่าไม่มีบ้านไหนเลยสักหลังเดียวใน 50 หลังคาเรือนที่มีหนังสือแม้แต่เล่มเดียวติดบ้าน ยิ่งไปกว่านั้นคือทั้งจังหวัดหาสถานที่ที่จะอ่านหนังสือยากมากๆ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดหรือร้านหนังสือ แล้วถามว่าพ่อแม่ที่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ หรือต้องทำไร่ทำสวน จะมีสักกี่คนที่จะสามารถพาลูกเดินทางดั้นด้นเพื่อเข้าถึงหนังสือได้ ที่มีคนบอกว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือ มันเป็นเพราะมันไม่มีให้เขาอ่าน เขาเข้าไม่ถึงหนังสือ” 

“มันต้องเกิดจากการคิดอย่างเป็นระบบว่าจะทำยังไงให้คนเข้าถึงหนังสือได้ และต่อยอดไปอีกว่าจะทำยังไงให้เกิดความหลากหลายของหนังสือ ถ้ามีหนังสือใหม่เพิ่มขึ้นมา จะจัดการกับหนังสือเก่ายังไง ไม่ใช่คิดแค่ว่าจะสร้างห้องสมุด แต่วิธีการจัดการหนังสือคือให้คนเอาหนังสือมาบริจาค กลายเป็นว่ามีแต่หนังสือธรรมมะ หรือหนังสือเก่าสภาพไม่ได้แล้ว” กุ๊กไก่เสริม

“เราเชื่อว่าถ้ามีหนังสือให้อ่านอย่างหลากหลาย คนก็อ่าน หนังสือมันสนุก” ป่านปิดท้าย


Text:

Witthawat P.

Witthawat P.

PHOTO:

Chanathip K.

Chanathip K.

Related Posts