A BOOK with NO NAME ร้านหนังสืออิสระในศรีย่านที่คนไม่อ่านหนังสือก็เข้ามาสนุกได้

A BOOK with NO NAME ร้านหนังสืออิสระในศรีย่านที่คนไม่อ่านหนังสือก็เข้ามาสนุกได้

19 มี.ค. 2567

SHARE WITH:

19 มี.ค. 2567

19 มี.ค. 2567

SHARE WITH:

SHARE WITH:

A BOOK with NO NAME ร้านหนังสืออิสระในศรีย่านที่คนไม่อ่านหนังสือก็เข้ามาสนุกได้

“ทุกย่าน ทุกชุมชน ทุกจังหวัด ควรมีร้านหนังสือ เพราะร้านหนังสือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่บอกว่าผู้คนยังมีกระบวนการคิด และต้องการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ”

ช่วงเวลาใกล้ๆ 6 โมงเย็นของวันอังคาร เราเดินทางมายังศรีย่านท่ามกลางความพลุกพล่านของผู้คนยามเลิกงาน หลังลงจากรถแท็กซี่แล้วข้ามถนนมายังบริเวณปากซอยสามเสน 17 ในที่สุดเราก็ถึง A BOOK with NO NAME ร้านหนังสืออิสระขนาดเล็ก ที่ให้ไวบ์แตกต่างจากร้านหนังสือทั่วๆ ไปที่เคยเห็นมาก่อน

เมื่อก้าวเข้าไปในร้าน เราก็ได้รับการต้อนรับด้วยบรรยากาศเรียบง่ายแต่ผ่อนคลาย เคล้าด้วยเสียงเพลงคูลๆ ที่เปิดในระดับเสียงที่คุ้นชินยามใช้บริการในคาเฟ่ ไม่ได้เงียบสงัดดังห้องสมุด เชลฟ์หนังสือและโต๊ะวางหนังสือกระจายไปเกือบทั่วพื้นที่ของร้าน อัดแน่นไปด้วยวรรณกรรมแปลทั้งแนวคลาสสิคและการเมือง หนังสือแนวปรัชญา อุดมการณ์ ศิลปวัฒนธรรม ซับคัลเจอร์ต่างๆ รวมไปถึงพ็อกเก็ตบุ๊กแนวบันทึกความทรงจำหรือบันทึกการเดินทางต่างๆ แซมด้วยต้นไม้และดอกไม้เพิ่มความสบายตา นอกจากนี้ยังมีบาร์เครื่องดื่มที่มีทั้งกาแฟ ชา โกโก้ โซดา และแอลกอฮอล์ พร้อมขนมอบต่างๆ ซ่อนอยู่ตรงมุมด้านในของร้าน ที่นี่จึงเหมาะมากที่จะเข้ามาหลบร้อนหลีกหนีความวุ่นวายของเมือง เพื่อแวะนั่งจิบเครื่องดื่มพร้อมผจญภัยสู่โลกใหม่ๆ ผ่านตัวหนังสือ

และถ้าใครเป็นทาสแมวแล้วละก็ จะต้องถูกใจแน่นอน เพราะในขณะที่เรากำลังนั่งพูดคุยกับ กา-วิทยา ก๋าคำ หนึ่งในหุ้นส่วนของร้าน ก็มีเจ้าของร้านตัวจริงยิ่งกว่าอย่างพี่ ‘สีหมอก’ แมวเทา น้อง ‘ปามุก’ แมวขาว และน้อง ‘มีชื่อ’ เจ้าขาวดำตัวป่วน ที่มานอนหลับอุตุอยู่ข้างๆ บ้าง มาวิ่งป้วนเปี้ยนอยู่รอบๆ บ้าง คอยสร้างรอยยิ้มให้ด้วย

“ไวบ์ของร้านเราค่อนข้างยืดหยุ่นพอสมควร” กาให้คำจำกัดความของร้าน A BOOK with NO NAME “สังเกตได้ว่าเข้ามาแล้วก็มีเพลงเปิด มีเสียงพูดคุย เพราะสำหรับเราร้านหนังสือไม่ได้เป็นแค่ที่ขายหนังสือ เพราะถ้าเป็นที่ขายหนังสือ ร้านออนไลน์ก็มีเยอะและตอบโจทย์เรื่องการซื้อขายอยู่แล้ว แถมง่ายกว่าด้วย” 

“แต่ร้านหนังสือมันเป็นมากกว่านั้น มันเป็นบรรยากาศของ ‘คอมมิวนิตี้’ ที่เปิดพื้นที่ให้กับการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ภายในร้าน เปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนที่อยากปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นผ่านหนังสือ ได้มาพบปะพูดคุยกัน”

“ส่วนตัวร้านเวลาเรามีไอเดียอะไรเข้ามาในหัว ก็จะพยายามหาที่ทางให้กับไอเดียนั้นด้วยการจัดร้านใหม่ เติมนั่นเปลี่ยนนี่ภายในร้าน ให้คนที่เข้ามาเขารู้สึกว่าร้านมันมีชีวิตชีวาขึ้น ไม่ซ้ำจำเจจนเกินไป แล้วด้วยเราเรียนศิลปะมา ก็จะเป็นคนไม่ค่อยอยู่นิ่ง ชอบตกแต่งนั่นตกแต่งนี่ และที่ชอบคือการจัดดอกไม้ ร้านเราเลยจะจัดดอกไม้ใหม่อยู่ตลอด”


ไม่ใช่แค่ร้านหนังสือสำหรับคนรักการอ่าน แต่เป็นคอมมิวนิตี้ที่เปิดรับคนทุกรูปแบบ

“เราสร้างคอมมิวนิตี้นี้ขึ้นมาเพื่อดึงดูดนักอ่านหน้าใหม่เข้ามานี่แหละ ถ้าเราทำบรรยากาศร้านให้เคร่งขรึม มันก็จะเป็นสถานที่เฉพาะกลุ่มเกินไป เราไม่ได้ต้องการให้เป็นแบบนั้น”

งามแสนหลวง สิงห์เฉลิม หรือโดนัท หุ้นส่วนอีกหนึ่งคนของร้านเข้ามาร่วมวงสนทนากับเรา พร้อมพูดถึงมุมมองของตัวเองในการสร้างร้านหนังสือแห่งนี้ขึ้นมา อย่างไรก็ตามเธอยอมรับว่าแม้จะวางคาแรกเตอร์ร้านให้ดูสบายๆ เข้าถึงได้ง่ายแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีชาเลนจ์อยู่พอสมควร

“คนไทยยังไม่ค่อยชินกับสถานที่แบบนี้ แล้วร้านหนังสือมันมีน้อยกว่าห้างสรรพสินค้าอีก เวลาคนอยากจะพักผ่อนหย่อนใจ แน่นอนว่าโดยวิถีชีวิตคนเมืองกรุง ย่อมคิดถึงห้างก่อนอยู่แล้ว หลายคนเลยที่บอกเราว่านั่งรถผ่านร้านหลายรอบแล้วแต่ไม่กล้าเข้า เพราะไม่รู้ว่าเข้ามาแล้วจะทำอะไร”

แต่เมื่อร้านเป็นที่รู้จักมากขึ้นจนมีรีวิวทั้งในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ (หรือ X ในปัจจุบัน) โดนัทก็รู้สึกได้ว่าเริ่มมีคนเปิดใจมากขึ้น

“เขาเห็นว่าร้านเรามีกาแฟด้วยนี่ มีแมวด้วยนะ ซึ่งเราใช้สิ่งเหล่านี้เป็นตัวดึงดูดให้คนใช้เวลาในร้านหนังสือให้นานที่สุด หลายคนเลยเริ่มเข้ามาด้วยการดื่มกาแฟ”

ทุกวันนี้ A BOOK with NO NAME มีลูกค้าประจำเป็นของตัวเองแล้ว แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอสำหรับโดนัท 

“มันไม่ได้มีคนที่มาร้านหนังสือได้ทุกวันหรือทุกเดือน ขนาดเราเองก็ไม่ได้ไปร้านที่เราชอบทุกๆ วัน เราเลยเพิ่มกิจกรรมที่สามารถดึงคนที่ไม่ได้อ่านหนังสือเข้ามาได้ด้วย ร้านมันจะได้มีชีวิตมากขึ้น”

กิจกรรมที่ร้านหนังสืออิสระแห่งนี้จัดอยู่บ่อยๆ คือเสวนา โดยเชิญชวนคนดังในวงการต่างๆ มาร่วมทอล์กในประเด็นหลากหลาย เช่น กิจกรรม ‘Speed Dating x ฟาโรห์ The Common Thread’ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเป็นการพูดคุยแนว small but hard talk กับฟาโรห์ ยูทูเบอร์ชื่อดังเจ้าของหนังสือ ‘ไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจ’ พร้อมกับกิจกรรม Speed Dating ที่ให้ผู้เข้าร่วมงานได้พูดคุยกับคนแปลกหน้าในประเด็นความรักที่ไม่ใช่แค่มิติความสัมพันธ์ 

หรืออีเวนต์ประจำที่จัดแล้วหลายครั้งอย่าง ‘นั่งถกยกแก้ว’ กับหัวข้อล่าสุด ‘จินตุรงคสันนิบาต’ การรวมตัวกันของคนรักจิน เพื่อรับการสอนและพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องจินกับ จ๋า Distiller life หรือก่อนหน้านั้นกับการสนทนาในประเด็น ‘รสชาติของการเป็นผู้ใหญ่’ ที่จัดขึ้นในวันเด็กเพื่อชวนเด็กๆ มาคุยเรื่องที่เด็กอยากรู้แต่ไม่อยากถาม และ ‘อาชญากรเด็ก’ ที่มีฟาโรห์ และจิตแพทย์อย่างคุณหมอภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ มาร่วมถกด้วย หรือแม้กระทั่งจัดอิเวนต์ดูภาพยนตร์ ‘(อย่า) พาเธอมาดูหนังรัก’ ที่ไม่นานมานี้ฉายหนังเรื่อง Lolita จากนวนิยายชื่อเดียวกันที่เคยถูกแบนในฝรั่งเศสและอังกฤษ และ Drive My Car จากหนังสือรวมเรื่องสั้น Men without Women ของฮารูกิ มูราคามิ พร้อมทอล์กหลังหนังจบ โดยหยิบประเด็นที่น่าสนใจในหนัง ซึ่งเชื่อมโยงและสอดคล้องกับชีวิตจริงของผู้ชมมาพูดคุยกัน

“บางคนเป็นคนไม่อ่านหนังสือด้วยซ้ำ แต่มาเพราะแค่อยากมานั่งดูเสวนา หรือเป็นแฟนคลับที่ตามยูทูเบอร์หรือวิทยากรที่เราเชิญมา” โดนัทเล่าถึงคนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมต่างๆ ของร้าน “พอเขาเข้ามาอยู่ในร้าน บรรยากาศร้านหนังสือมันก็หล่อหลอมให้เขาค่อยๆ เปิดใจและลองซื้อหนังสือกลับไปอ่านดูบ้าง หรือบางคนรู้ว่าร้านเราเป็นร้านหนังสือเพราะทำงานอยู่แถวๆ นี้แต่ไม่รู้ว่าเป็นฟีลไหน พอมีกิจกรรม เลยลองเปิดใจมาร่วมสักหนึ่งครั้ง เขาก็บอกว่าไม่เคยรู้เลยว่ามีหนังสืออะไรแบบนี้ด้วย เขาก็ซื้อกลับไปเยอะเลย”

“จริงๆ พี่กาเก่งมากเรื่องป้ายยา”

กายอมรับพร้อมบอกว่า “เราเป็นนักอ่านที่เปิดร้านหนังสืออะ เราอยากให้หนังสือถูกอ่าน ก็เลยต้องมีการป้ายยาเกิดขึ้น แต่การอ่านหนังสือมันเป็นเรื่องของปัจเจก เราไปบังคับให้คนซื้อหนังสือหรืออ่านหนังสือไม่ได้ แต่อย่างน้อยมันก็เพิ่มคนเข้ามาในคอมมิวนิตี้ของเรา”

“มันสนุกนะเวลาที่ได้คุยกัน และคนที่เราไปป้ายยาหนังสือก็กลายเป็นคนรู้จักกัน เป็นพี่เป็นน้องเป็นเพื่อนกัน คือการพูดคุยเรื่องหนังสือเนี่ยมันเป็น deep talk แบบหนึ่งนะ จากเรื่องในหนังสือ มันก็จะไปต่อเรื่องการเมือง เรื่องนั้นเรื่องนี้ที่ลึกไปเรื่อยๆ มันก็ได้ทำความรู้จักตัวตนกันมากขึ้น เพราะมันไม่ใช่แค่การพูดคุยเรื่องทั่วๆ ไปแล้ว และทุกครั้งที่ทุกคนกลับมาเจอกันเวลาที่ร้านจัดงานต่างๆ จะรู้สึกได้เลยว่ามันอบอุ่น ร้านนี้มันกลายเป็นพื้นที่ของการพบปะพูดคุยกันของคนแปลกหน้าที่สุดท้ายพัฒนามาเป็นคนรู้จักกัน มันดีมากเลยนะ เรารู้สึกว่าประสบความสำเร็จมากๆ ในแง่ของการสร้างคอมมิวนิตี้ที่มีความหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องเป็นคนอ่านหนังสืออย่างเดียว”

“เราเอาทุกศาสตร์เลย อ่านหนังสือ ชอบดื่มก็ได้ ดูหนังก็ได้” โดนัทเสริม “และเราก็อยากทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับชุมชนที่ร้านเราตั้งอยู่ด้วย ย่านนี้คือ ‘ศรีย่าน’ ซึ่งเรามองว่ามันเป็นสังคมที่มีเด็กกับผู้สูงอายุ รวมถึงนักศึกษา เราก็อยากดีไซน์กิจกรรมต่างๆ ที่เข้าถึงชุมชนนี้ได้ ให้มันเฟรนด์ลี่กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นอากงอาม่า หรือใครก็ได้แถวนี้แหละ เพื่อให้เขาก้าวเข้ามาในร้านเรา” 


อนาคตที่อยากจะขับเคลื่อนวงการร้านหนังสืออิสระในไทยให้แข็งแกร่ง

“เราอยากมีหนังสือเยอะมากๆ กว่านี้ สัก 2-3 เท่า”

กาบอกความต้องการของตัวเองเมื่อเราถามถึงสิ่งที่พวกเขาอยากจะพัฒนาให้เกิดขึ้นกับ A BOOK with NO NAME

“แต่พอเราทำร้านนี้มาสักพักหนึ่ง ก็มีสำนักพิมพ์เฉพาะด้านติดต่อเราเข้ามาเอง ล่าสุดคือสำนักพิมพ์ River Books เราก็โอเคเลย เพราะอยากได้หนังสือหมวดประวัติศาสตร์และหนังสือภาษาอังกฤษกันอยู่แล้ว”

“เพราะว่าหลังโควิด ชาวต่างชาติก็เริ่มเข้าร้านเราเยอะขึ้นพอสมควร” โดนัทเสริม

นอกจากเพิ่มแนวหนังสือที่หลากหลายแล้ว โดนัทยังบอกอีกว่า A BOOK with NO NAME อาจจะแตกออกเป็น ‘A Book Hometown’ ด้วยในอนาคต

“ร้านนี้มีหุ้นส่วนสองคนคือเรากับพี่กา พี่กาบ้านเกิดเขาอยู่ที่พะเยา หากวันใดวันหนึ่งเขาจะกลับไปตั้งรกรากที่นู่น มันก็จะเกิดเป็นร้าน A BOOK with NO NAME สาขานั้นไป เพราะเราไม่อยากให้ร้านหนังสือมันกระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพฯ หรือตามเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา หรือชลบุรี อย่างตอนนี้ก็มีร้านหนังสือนกนางแอ่นในพัทลุง หรือที่สตูลก็มีร้านหนังสือความกดอากาศต่ำ เราอยากให้มีร้านหนังสืออิสระแบบนี้กระจายตัวไปในทุกที่เยอะๆ ตามจังหวัดต่างๆ สังคมการอ่านจะได้แข็งแรง”

ความต้องการดังกล่าวบวกกับการเป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำร้านหนังสืออิสระ หลอมรวมเป็นเป้าหมายใหม่ที่โดนัทอยากจะทำให้ได้เพื่อขับเคลื่อนวงการร้านหนังสืออิสระในไทย

“เราอยากให้คนทำร้านหนังสืออิสระกันเยอะๆ วงการนี้มันแปลกนะที่ไม่ได้มีคนมาห้ามกันว่าเธออย่ามาเป็นคู่แข่งฉันนะ ในทางกลับกันอยากจะให้มีคนมาเปิดร้านกันเยอะๆ ซึ่งเราก็อยากจะเป็นคนหนึ่งที่ให้คอนซัลต์แก่คนที่อยากเปิดร้านหนังสืออิสระ ด้วยประสบการณ์ในการทำ A BOOK with NO NAME ซึ่งยืนระยะมาได้เกือบ 6 ปีแล้ว เราเลยคิดว่าเราอยากจะเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ผลักดันวงการหนังสืออิสระให้ไปได้ไกลกว่านี้” 

ไม่เพียงเท่านั้น โดนัทยังมี “อีกหนึ่งความฝันคือเราอยากเป็นร้านหนังสือที่ไม่ได้รับหนังสือแค่จากสำนักพิมพ์ เพราะตอนนี้ที่ร้านก็มีหนังสือทำมือ หนังสือจากคนที่เป็น self-publisher ซึ่งเป็นนักเขียนออนไลน์มาก่อน หรือเขียนเก็บไว้อ่านคนเดียวจนวันหนึ่งสามารถรวบรวมความกล้าและเงินทุนจำนวนหนึ่งมาตีพิมพ์เองไม่กี่สิบเล่ม เราอยากสนับสนุนคนเหล่านี้ที่อาจจะไม่สามารถเข้าถึงระบบสำนักพิมพ์ได้ แต่ก็รวบรวมความกล้าทำออกมาโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะดีหรือมันจะแป้ก เราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ให้การคอนซัลต์และผลักดันให้เขาไปถึงโอกาสให้ได้” 

“จริงๆ หลายสำนักพิมพ์เองก็กำลังทำแบบนี้ เช่น P.S. Publishing ที่จัดกิจกรรม Open House เปิดโอกาสให้นักอ่านรวมถึงคนที่อยากจะเป็นนักเขียนมาพูดคุยกับทีมนักเขียนและกองบรรณาธิการโดยตรง เราชอบมากที่มีคอมมิวนิตี้แบบนี้ที่รวมคนที่รักการอ่านและคนที่อาจจะมีพรสวรรค์ด้านการเขียนแต่ถูกกลบเอาไว้ด้วยวิถีชีวิตในปัจจุบันของตัวเอง”


ถึงอย่างนั้นทั้งโดนัทและกาก็ยอมรับว่าการขับเคลื่อนวงการร้านหนังสืออิสระ รวมไปถึงคอมมิวนิตี้ที่เปิดรับนักอ่านทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ให้มารู้จักกันได้นั้นไม่สามารถเริ่มต้นได้จากร้านใดร้านหนึ่งเพียงร้านเดียว

“โดนัทมองว่าเราแค่ร้านเดียวไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้ขนาดนั้น แต่จำได้ว่าในยุคหนึ่งตอนที่ยังเรียนอยู่มหาลัยสิบกว่าปีที่แล้ว TCDC หรือ TK Park มันคือศูนย์กลางของการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับคนรักหนังสือหรือคนอ่านหนังสือ หรือตอนนี้ก็มีงาน Bangkok Design Week ที่ให้พื้นที่แก่นักศึกษาหรือคนทำงานด้านดีไซน์ 

“เราก็คาดหวังว่าต่อไปในอนาคต แวดวงหนังสือหรือสังคมการอ่านในไทยมันจะกลับมาแข็งแรงมากขึ้น ไม่ได้มีแค่งานสัปดาห์หนังสือที่แต่ละสำนักพิมพ์เอาหนังสือไปออกโชว์เคสวางขายหรือลดราคาแค่นั้น เราคาดหวังว่ามันจะมีเวทีหรือพื้นที่ที่สร้างสรรค์มากกว่านี้ สามารถเอาการอ่านหนังสือและวิถีชีวิตของคนในสังคมจริงๆ เข้ามาผสมกันได้ และขับเคลื่อนให้คนทำงานหนังสือมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หนังสือราคาจับต้องได้มากขึ้น และร้านหนังสืออิสระสามารถอยู่รอดได้ อาจจะฟังดูเพ้อฝัน แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ ซึ่งร้านเราร้านเดียวทำไม่ได้หรอก”

“คนทำหนังสือพลังเยอะ ไม่ต้องห่วง มันคงจะดีขึ้นเรื่อยๆ” กาเสริม “แต่เอาจริงๆ ถ้าแก้ปัญหาระยะยาว มันเป็นเรื่องของโครงสร้าง ที่ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่นโยบายรัฐบาล คุยกับกระทรวงวัฒนธรรม คุยกับสมาคมผู้จัดพิมพ์ คุยกับสมาคมนักเขียน ไล่ลงมาเรื่อยๆ รวมถึงร้านหนังสือ

“แต่ตอนนี้มันคือต่างคนต่างทำ สำนักพิมพ์ก็ต้องเอาตัวรอด ขายเองทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ ผ่านหน้าเพจของตัวเอง ร้านหนังสือเลยแทบจะกลายเป็นสิ่งสุดท้ายที่คนนึกถึง เพราะฉะนั้นมันอาจจะต้องเริ่มจากนโยบายรัฐบางอย่าง เช่น ห้ามลดราคาหนังสือใหม่ อาจจะเอานโยบายของต่างประเทศที่เขาประสบความสำเร็จมาปรับใช้ดูก็ได้ แบบนี้ก็โอเคแล้วสำหรับเรา”



“ทุกย่าน ทุกชุมชน ทุกจังหวัด ควรมีร้านหนังสือ เพราะร้านหนังสือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่บอกว่าผู้คนยังมีกระบวนการคิด และต้องการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ”

ช่วงเวลาใกล้ๆ 6 โมงเย็นของวันอังคาร เราเดินทางมายังศรีย่านท่ามกลางความพลุกพล่านของผู้คนยามเลิกงาน หลังลงจากรถแท็กซี่แล้วข้ามถนนมายังบริเวณปากซอยสามเสน 17 ในที่สุดเราก็ถึง A BOOK with NO NAME ร้านหนังสืออิสระขนาดเล็ก ที่ให้ไวบ์แตกต่างจากร้านหนังสือทั่วๆ ไปที่เคยเห็นมาก่อน

เมื่อก้าวเข้าไปในร้าน เราก็ได้รับการต้อนรับด้วยบรรยากาศเรียบง่ายแต่ผ่อนคลาย เคล้าด้วยเสียงเพลงคูลๆ ที่เปิดในระดับเสียงที่คุ้นชินยามใช้บริการในคาเฟ่ ไม่ได้เงียบสงัดดังห้องสมุด เชลฟ์หนังสือและโต๊ะวางหนังสือกระจายไปเกือบทั่วพื้นที่ของร้าน อัดแน่นไปด้วยวรรณกรรมแปลทั้งแนวคลาสสิคและการเมือง หนังสือแนวปรัชญา อุดมการณ์ ศิลปวัฒนธรรม ซับคัลเจอร์ต่างๆ รวมไปถึงพ็อกเก็ตบุ๊กแนวบันทึกความทรงจำหรือบันทึกการเดินทางต่างๆ แซมด้วยต้นไม้และดอกไม้เพิ่มความสบายตา นอกจากนี้ยังมีบาร์เครื่องดื่มที่มีทั้งกาแฟ ชา โกโก้ โซดา และแอลกอฮอล์ พร้อมขนมอบต่างๆ ซ่อนอยู่ตรงมุมด้านในของร้าน ที่นี่จึงเหมาะมากที่จะเข้ามาหลบร้อนหลีกหนีความวุ่นวายของเมือง เพื่อแวะนั่งจิบเครื่องดื่มพร้อมผจญภัยสู่โลกใหม่ๆ ผ่านตัวหนังสือ

และถ้าใครเป็นทาสแมวแล้วละก็ จะต้องถูกใจแน่นอน เพราะในขณะที่เรากำลังนั่งพูดคุยกับ กา-วิทยา ก๋าคำ หนึ่งในหุ้นส่วนของร้าน ก็มีเจ้าของร้านตัวจริงยิ่งกว่าอย่างพี่ ‘สีหมอก’ แมวเทา น้อง ‘ปามุก’ แมวขาว และน้อง ‘มีชื่อ’ เจ้าขาวดำตัวป่วน ที่มานอนหลับอุตุอยู่ข้างๆ บ้าง มาวิ่งป้วนเปี้ยนอยู่รอบๆ บ้าง คอยสร้างรอยยิ้มให้ด้วย

“ไวบ์ของร้านเราค่อนข้างยืดหยุ่นพอสมควร” กาให้คำจำกัดความของร้าน A BOOK with NO NAME “สังเกตได้ว่าเข้ามาแล้วก็มีเพลงเปิด มีเสียงพูดคุย เพราะสำหรับเราร้านหนังสือไม่ได้เป็นแค่ที่ขายหนังสือ เพราะถ้าเป็นที่ขายหนังสือ ร้านออนไลน์ก็มีเยอะและตอบโจทย์เรื่องการซื้อขายอยู่แล้ว แถมง่ายกว่าด้วย” 

“แต่ร้านหนังสือมันเป็นมากกว่านั้น มันเป็นบรรยากาศของ ‘คอมมิวนิตี้’ ที่เปิดพื้นที่ให้กับการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ภายในร้าน เปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนที่อยากปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นผ่านหนังสือ ได้มาพบปะพูดคุยกัน”

“ส่วนตัวร้านเวลาเรามีไอเดียอะไรเข้ามาในหัว ก็จะพยายามหาที่ทางให้กับไอเดียนั้นด้วยการจัดร้านใหม่ เติมนั่นเปลี่ยนนี่ภายในร้าน ให้คนที่เข้ามาเขารู้สึกว่าร้านมันมีชีวิตชีวาขึ้น ไม่ซ้ำจำเจจนเกินไป แล้วด้วยเราเรียนศิลปะมา ก็จะเป็นคนไม่ค่อยอยู่นิ่ง ชอบตกแต่งนั่นตกแต่งนี่ และที่ชอบคือการจัดดอกไม้ ร้านเราเลยจะจัดดอกไม้ใหม่อยู่ตลอด”


ไม่ใช่แค่ร้านหนังสือสำหรับคนรักการอ่าน แต่เป็นคอมมิวนิตี้ที่เปิดรับคนทุกรูปแบบ

“เราสร้างคอมมิวนิตี้นี้ขึ้นมาเพื่อดึงดูดนักอ่านหน้าใหม่เข้ามานี่แหละ ถ้าเราทำบรรยากาศร้านให้เคร่งขรึม มันก็จะเป็นสถานที่เฉพาะกลุ่มเกินไป เราไม่ได้ต้องการให้เป็นแบบนั้น”

งามแสนหลวง สิงห์เฉลิม หรือโดนัท หุ้นส่วนอีกหนึ่งคนของร้านเข้ามาร่วมวงสนทนากับเรา พร้อมพูดถึงมุมมองของตัวเองในการสร้างร้านหนังสือแห่งนี้ขึ้นมา อย่างไรก็ตามเธอยอมรับว่าแม้จะวางคาแรกเตอร์ร้านให้ดูสบายๆ เข้าถึงได้ง่ายแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีชาเลนจ์อยู่พอสมควร

“คนไทยยังไม่ค่อยชินกับสถานที่แบบนี้ แล้วร้านหนังสือมันมีน้อยกว่าห้างสรรพสินค้าอีก เวลาคนอยากจะพักผ่อนหย่อนใจ แน่นอนว่าโดยวิถีชีวิตคนเมืองกรุง ย่อมคิดถึงห้างก่อนอยู่แล้ว หลายคนเลยที่บอกเราว่านั่งรถผ่านร้านหลายรอบแล้วแต่ไม่กล้าเข้า เพราะไม่รู้ว่าเข้ามาแล้วจะทำอะไร”

แต่เมื่อร้านเป็นที่รู้จักมากขึ้นจนมีรีวิวทั้งในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ (หรือ X ในปัจจุบัน) โดนัทก็รู้สึกได้ว่าเริ่มมีคนเปิดใจมากขึ้น

“เขาเห็นว่าร้านเรามีกาแฟด้วยนี่ มีแมวด้วยนะ ซึ่งเราใช้สิ่งเหล่านี้เป็นตัวดึงดูดให้คนใช้เวลาในร้านหนังสือให้นานที่สุด หลายคนเลยเริ่มเข้ามาด้วยการดื่มกาแฟ”

ทุกวันนี้ A BOOK with NO NAME มีลูกค้าประจำเป็นของตัวเองแล้ว แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอสำหรับโดนัท 

“มันไม่ได้มีคนที่มาร้านหนังสือได้ทุกวันหรือทุกเดือน ขนาดเราเองก็ไม่ได้ไปร้านที่เราชอบทุกๆ วัน เราเลยเพิ่มกิจกรรมที่สามารถดึงคนที่ไม่ได้อ่านหนังสือเข้ามาได้ด้วย ร้านมันจะได้มีชีวิตมากขึ้น”

กิจกรรมที่ร้านหนังสืออิสระแห่งนี้จัดอยู่บ่อยๆ คือเสวนา โดยเชิญชวนคนดังในวงการต่างๆ มาร่วมทอล์กในประเด็นหลากหลาย เช่น กิจกรรม ‘Speed Dating x ฟาโรห์ The Common Thread’ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเป็นการพูดคุยแนว small but hard talk กับฟาโรห์ ยูทูเบอร์ชื่อดังเจ้าของหนังสือ ‘ไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจ’ พร้อมกับกิจกรรม Speed Dating ที่ให้ผู้เข้าร่วมงานได้พูดคุยกับคนแปลกหน้าในประเด็นความรักที่ไม่ใช่แค่มิติความสัมพันธ์ 

หรืออีเวนต์ประจำที่จัดแล้วหลายครั้งอย่าง ‘นั่งถกยกแก้ว’ กับหัวข้อล่าสุด ‘จินตุรงคสันนิบาต’ การรวมตัวกันของคนรักจิน เพื่อรับการสอนและพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องจินกับ จ๋า Distiller life หรือก่อนหน้านั้นกับการสนทนาในประเด็น ‘รสชาติของการเป็นผู้ใหญ่’ ที่จัดขึ้นในวันเด็กเพื่อชวนเด็กๆ มาคุยเรื่องที่เด็กอยากรู้แต่ไม่อยากถาม และ ‘อาชญากรเด็ก’ ที่มีฟาโรห์ และจิตแพทย์อย่างคุณหมอภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ มาร่วมถกด้วย หรือแม้กระทั่งจัดอิเวนต์ดูภาพยนตร์ ‘(อย่า) พาเธอมาดูหนังรัก’ ที่ไม่นานมานี้ฉายหนังเรื่อง Lolita จากนวนิยายชื่อเดียวกันที่เคยถูกแบนในฝรั่งเศสและอังกฤษ และ Drive My Car จากหนังสือรวมเรื่องสั้น Men without Women ของฮารูกิ มูราคามิ พร้อมทอล์กหลังหนังจบ โดยหยิบประเด็นที่น่าสนใจในหนัง ซึ่งเชื่อมโยงและสอดคล้องกับชีวิตจริงของผู้ชมมาพูดคุยกัน

“บางคนเป็นคนไม่อ่านหนังสือด้วยซ้ำ แต่มาเพราะแค่อยากมานั่งดูเสวนา หรือเป็นแฟนคลับที่ตามยูทูเบอร์หรือวิทยากรที่เราเชิญมา” โดนัทเล่าถึงคนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมต่างๆ ของร้าน “พอเขาเข้ามาอยู่ในร้าน บรรยากาศร้านหนังสือมันก็หล่อหลอมให้เขาค่อยๆ เปิดใจและลองซื้อหนังสือกลับไปอ่านดูบ้าง หรือบางคนรู้ว่าร้านเราเป็นร้านหนังสือเพราะทำงานอยู่แถวๆ นี้แต่ไม่รู้ว่าเป็นฟีลไหน พอมีกิจกรรม เลยลองเปิดใจมาร่วมสักหนึ่งครั้ง เขาก็บอกว่าไม่เคยรู้เลยว่ามีหนังสืออะไรแบบนี้ด้วย เขาก็ซื้อกลับไปเยอะเลย”

“จริงๆ พี่กาเก่งมากเรื่องป้ายยา”

กายอมรับพร้อมบอกว่า “เราเป็นนักอ่านที่เปิดร้านหนังสืออะ เราอยากให้หนังสือถูกอ่าน ก็เลยต้องมีการป้ายยาเกิดขึ้น แต่การอ่านหนังสือมันเป็นเรื่องของปัจเจก เราไปบังคับให้คนซื้อหนังสือหรืออ่านหนังสือไม่ได้ แต่อย่างน้อยมันก็เพิ่มคนเข้ามาในคอมมิวนิตี้ของเรา”

“มันสนุกนะเวลาที่ได้คุยกัน และคนที่เราไปป้ายยาหนังสือก็กลายเป็นคนรู้จักกัน เป็นพี่เป็นน้องเป็นเพื่อนกัน คือการพูดคุยเรื่องหนังสือเนี่ยมันเป็น deep talk แบบหนึ่งนะ จากเรื่องในหนังสือ มันก็จะไปต่อเรื่องการเมือง เรื่องนั้นเรื่องนี้ที่ลึกไปเรื่อยๆ มันก็ได้ทำความรู้จักตัวตนกันมากขึ้น เพราะมันไม่ใช่แค่การพูดคุยเรื่องทั่วๆ ไปแล้ว และทุกครั้งที่ทุกคนกลับมาเจอกันเวลาที่ร้านจัดงานต่างๆ จะรู้สึกได้เลยว่ามันอบอุ่น ร้านนี้มันกลายเป็นพื้นที่ของการพบปะพูดคุยกันของคนแปลกหน้าที่สุดท้ายพัฒนามาเป็นคนรู้จักกัน มันดีมากเลยนะ เรารู้สึกว่าประสบความสำเร็จมากๆ ในแง่ของการสร้างคอมมิวนิตี้ที่มีความหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องเป็นคนอ่านหนังสืออย่างเดียว”

“เราเอาทุกศาสตร์เลย อ่านหนังสือ ชอบดื่มก็ได้ ดูหนังก็ได้” โดนัทเสริม “และเราก็อยากทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับชุมชนที่ร้านเราตั้งอยู่ด้วย ย่านนี้คือ ‘ศรีย่าน’ ซึ่งเรามองว่ามันเป็นสังคมที่มีเด็กกับผู้สูงอายุ รวมถึงนักศึกษา เราก็อยากดีไซน์กิจกรรมต่างๆ ที่เข้าถึงชุมชนนี้ได้ ให้มันเฟรนด์ลี่กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นอากงอาม่า หรือใครก็ได้แถวนี้แหละ เพื่อให้เขาก้าวเข้ามาในร้านเรา” 


อนาคตที่อยากจะขับเคลื่อนวงการร้านหนังสืออิสระในไทยให้แข็งแกร่ง

“เราอยากมีหนังสือเยอะมากๆ กว่านี้ สัก 2-3 เท่า”

กาบอกความต้องการของตัวเองเมื่อเราถามถึงสิ่งที่พวกเขาอยากจะพัฒนาให้เกิดขึ้นกับ A BOOK with NO NAME

“แต่พอเราทำร้านนี้มาสักพักหนึ่ง ก็มีสำนักพิมพ์เฉพาะด้านติดต่อเราเข้ามาเอง ล่าสุดคือสำนักพิมพ์ River Books เราก็โอเคเลย เพราะอยากได้หนังสือหมวดประวัติศาสตร์และหนังสือภาษาอังกฤษกันอยู่แล้ว”

“เพราะว่าหลังโควิด ชาวต่างชาติก็เริ่มเข้าร้านเราเยอะขึ้นพอสมควร” โดนัทเสริม

นอกจากเพิ่มแนวหนังสือที่หลากหลายแล้ว โดนัทยังบอกอีกว่า A BOOK with NO NAME อาจจะแตกออกเป็น ‘A Book Hometown’ ด้วยในอนาคต

“ร้านนี้มีหุ้นส่วนสองคนคือเรากับพี่กา พี่กาบ้านเกิดเขาอยู่ที่พะเยา หากวันใดวันหนึ่งเขาจะกลับไปตั้งรกรากที่นู่น มันก็จะเกิดเป็นร้าน A BOOK with NO NAME สาขานั้นไป เพราะเราไม่อยากให้ร้านหนังสือมันกระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพฯ หรือตามเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา หรือชลบุรี อย่างตอนนี้ก็มีร้านหนังสือนกนางแอ่นในพัทลุง หรือที่สตูลก็มีร้านหนังสือความกดอากาศต่ำ เราอยากให้มีร้านหนังสืออิสระแบบนี้กระจายตัวไปในทุกที่เยอะๆ ตามจังหวัดต่างๆ สังคมการอ่านจะได้แข็งแรง”

ความต้องการดังกล่าวบวกกับการเป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำร้านหนังสืออิสระ หลอมรวมเป็นเป้าหมายใหม่ที่โดนัทอยากจะทำให้ได้เพื่อขับเคลื่อนวงการร้านหนังสืออิสระในไทย

“เราอยากให้คนทำร้านหนังสืออิสระกันเยอะๆ วงการนี้มันแปลกนะที่ไม่ได้มีคนมาห้ามกันว่าเธออย่ามาเป็นคู่แข่งฉันนะ ในทางกลับกันอยากจะให้มีคนมาเปิดร้านกันเยอะๆ ซึ่งเราก็อยากจะเป็นคนหนึ่งที่ให้คอนซัลต์แก่คนที่อยากเปิดร้านหนังสืออิสระ ด้วยประสบการณ์ในการทำ A BOOK with NO NAME ซึ่งยืนระยะมาได้เกือบ 6 ปีแล้ว เราเลยคิดว่าเราอยากจะเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ผลักดันวงการหนังสืออิสระให้ไปได้ไกลกว่านี้” 

ไม่เพียงเท่านั้น โดนัทยังมี “อีกหนึ่งความฝันคือเราอยากเป็นร้านหนังสือที่ไม่ได้รับหนังสือแค่จากสำนักพิมพ์ เพราะตอนนี้ที่ร้านก็มีหนังสือทำมือ หนังสือจากคนที่เป็น self-publisher ซึ่งเป็นนักเขียนออนไลน์มาก่อน หรือเขียนเก็บไว้อ่านคนเดียวจนวันหนึ่งสามารถรวบรวมความกล้าและเงินทุนจำนวนหนึ่งมาตีพิมพ์เองไม่กี่สิบเล่ม เราอยากสนับสนุนคนเหล่านี้ที่อาจจะไม่สามารถเข้าถึงระบบสำนักพิมพ์ได้ แต่ก็รวบรวมความกล้าทำออกมาโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะดีหรือมันจะแป้ก เราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ให้การคอนซัลต์และผลักดันให้เขาไปถึงโอกาสให้ได้” 

“จริงๆ หลายสำนักพิมพ์เองก็กำลังทำแบบนี้ เช่น P.S. Publishing ที่จัดกิจกรรม Open House เปิดโอกาสให้นักอ่านรวมถึงคนที่อยากจะเป็นนักเขียนมาพูดคุยกับทีมนักเขียนและกองบรรณาธิการโดยตรง เราชอบมากที่มีคอมมิวนิตี้แบบนี้ที่รวมคนที่รักการอ่านและคนที่อาจจะมีพรสวรรค์ด้านการเขียนแต่ถูกกลบเอาไว้ด้วยวิถีชีวิตในปัจจุบันของตัวเอง”


ถึงอย่างนั้นทั้งโดนัทและกาก็ยอมรับว่าการขับเคลื่อนวงการร้านหนังสืออิสระ รวมไปถึงคอมมิวนิตี้ที่เปิดรับนักอ่านทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ให้มารู้จักกันได้นั้นไม่สามารถเริ่มต้นได้จากร้านใดร้านหนึ่งเพียงร้านเดียว

“โดนัทมองว่าเราแค่ร้านเดียวไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้ขนาดนั้น แต่จำได้ว่าในยุคหนึ่งตอนที่ยังเรียนอยู่มหาลัยสิบกว่าปีที่แล้ว TCDC หรือ TK Park มันคือศูนย์กลางของการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับคนรักหนังสือหรือคนอ่านหนังสือ หรือตอนนี้ก็มีงาน Bangkok Design Week ที่ให้พื้นที่แก่นักศึกษาหรือคนทำงานด้านดีไซน์ 

“เราก็คาดหวังว่าต่อไปในอนาคต แวดวงหนังสือหรือสังคมการอ่านในไทยมันจะกลับมาแข็งแรงมากขึ้น ไม่ได้มีแค่งานสัปดาห์หนังสือที่แต่ละสำนักพิมพ์เอาหนังสือไปออกโชว์เคสวางขายหรือลดราคาแค่นั้น เราคาดหวังว่ามันจะมีเวทีหรือพื้นที่ที่สร้างสรรค์มากกว่านี้ สามารถเอาการอ่านหนังสือและวิถีชีวิตของคนในสังคมจริงๆ เข้ามาผสมกันได้ และขับเคลื่อนให้คนทำงานหนังสือมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หนังสือราคาจับต้องได้มากขึ้น และร้านหนังสืออิสระสามารถอยู่รอดได้ อาจจะฟังดูเพ้อฝัน แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ ซึ่งร้านเราร้านเดียวทำไม่ได้หรอก”

“คนทำหนังสือพลังเยอะ ไม่ต้องห่วง มันคงจะดีขึ้นเรื่อยๆ” กาเสริม “แต่เอาจริงๆ ถ้าแก้ปัญหาระยะยาว มันเป็นเรื่องของโครงสร้าง ที่ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่นโยบายรัฐบาล คุยกับกระทรวงวัฒนธรรม คุยกับสมาคมผู้จัดพิมพ์ คุยกับสมาคมนักเขียน ไล่ลงมาเรื่อยๆ รวมถึงร้านหนังสือ

“แต่ตอนนี้มันคือต่างคนต่างทำ สำนักพิมพ์ก็ต้องเอาตัวรอด ขายเองทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ ผ่านหน้าเพจของตัวเอง ร้านหนังสือเลยแทบจะกลายเป็นสิ่งสุดท้ายที่คนนึกถึง เพราะฉะนั้นมันอาจจะต้องเริ่มจากนโยบายรัฐบางอย่าง เช่น ห้ามลดราคาหนังสือใหม่ อาจจะเอานโยบายของต่างประเทศที่เขาประสบความสำเร็จมาปรับใช้ดูก็ได้ แบบนี้ก็โอเคแล้วสำหรับเรา”



Text:

Witthawat P.

Witthawat P.

PHOTO:

Chanathip K.

Chanathip K.

Related Posts